ไมแอมี 9 ส.ค.- องค์กรนอกภาครัฐในเมืองไมแอมี รัฐฟลอริดาของสหรัฐทดลองนำแว่นที่ใช้เทคโนโลยีความจริงเสมือนหรือวีอาร์ (VR) ช่วยบำบัดอาการซึมเศร้าและโดดเดี่ยวให้กับชุมชนผู้สูงวัย ด้วยการเติมเต็มความปรารถนาที่ไม่สามารถทำได้ในโลกแห่งความเป็นจริง
โครงการวีอาร์จีนี่ ดำเนินการโดยกลุ่มอีควอลิตีแลบ และได้รับทุนจากองค์กรนอกภาครัฐในไมแอมี ทดลองนำแว่นวีอาร์ไปใช้กับชุมชนชาวคิวบาสูงวัย หวังบำบัดอาการโดดเดี่ยว แยกตัวจากสังคม ที่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงวัย โดยเฉพาะคนที่อยู่คนเดียวหรืออยู่ตามบ้านพักคนชราที่ไม่มีกิจกรรมให้ทำเท่าใดนัก แว่นวีอาร์พาผู้สูงวัยไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่พวกเขาไม่สามารถทำได้ในโลกแห่งความเป็นจริง เช่น ว่ายน้ำกับโลมา ท่องอวกาศ พิชิตยอดเขา เพื่อเติมเต็มความปรารถนา โครงการตั้งเป้าจะแจกจ่ายแว่นวีอาร์ให้แก่บ้านพักคนชราทันทีที่รวบรวมห้องสมุดความฝันได้มากเพียงพอ
ดร.อัลดริช ชาน นักประสาทวิทยาและนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยไมแอมี ที่ปรึกษาโครงการอธิบายว่า จินตภาพภายใต้การชี้นำและการทำสมาธิเป็นประโยชน์อย่างมากต่อกระบวนการรับรู้ ขณะที่การแทรกแซงพฤติกรรมโดยตรงก็เป็นประโยชน์ต่อบุคคลเช่นกัน แว่นวีอาร์สามารถทำหน้าที่ทั้งสองอย่างนี้ได้อย่างพอดี การทดลองนำมาใช้ดูแลผู้สูงวัยจึงเป็นเรื่องน่าสนใจมาก
ด้านคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิสเผยแพร่งานวิจัยในนิตยสารวิทยาศาสตร์สแตต (STAT) เรื่องการให้ประสบการณ์เชิงบวกกับผู้ป่วย เช่น ใช้แว่นวีอาร์ การทำสมาธิ เพื่อบำบัดอาการเบื่อหน่ายสิ่งรอบตัวและทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น ผลการรักษาส่วนใหญ่พบว่า สามารถลดความรู้สึกเชิงลบที่เป็นอาการของภาวะซึมเศร้า และส่วนน้อยมีความรู้สึกเชิงบวกมากขึ้น คณะนักวิจัยชุดนี้เคยเผยแพร่งานวิจัยในวารสารจิตวิทยาเชิงปรึกษาและคลีนิกเมื่อต้นปีว่า ผู้ป่วยที่เข้าร่วมในการทดลองรักษาเชิงบวกมีอาการหดหู่ กระวนกระวายใจ และกังวลใจลดลง เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่เข้าร่วมการรักษาแบบมาตรฐานที่เน้นแก้ไขอาการเชิงลบเป็นหลัก.- สำนักข่าวไทย