อังกฤษ 26 มี.ค.-เบร็กซิทอลเวง! เก้าอี้นายกฯ เทเรซา เมย์ ระส่ำ หลังรัฐสภายึดอำนาจบริหารเบรกซิท ส่อเค้าอังกฤษหายนะ ต้องออกจากอียูแบบไร้ข้อตกลง
เมื่อวานนี้สภาอังกฤษ ยึดอำนาจรัฐบาล คุมอนาคต “เบร็กซิท” เองแทนที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ โดยจะมีการพิจารณาทางเลือกอื่นๆ ซึ่งรวมถึงการจัดลงประชามติอีกรอบ ซึ่งเมย์ คัดค้านมาโดยตลอด ด้วยมติ 329 ต่อ 302 เสียง สนับสนุนการแก้ไขแผนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือเบร็กซิท เพื่อเปิดทางให้สภาเข้ามากำหนดวาระพิจารณาขั้นตอนที่เกี่ยวข้องด้วยตัวเอง รวมทั้งหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากเงื่อนไขที่นายกฯ ตกลงไว้กับสหภาพยุโรป ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างหนัก และถูกสภาปัดตกมาแล้วถึง 2 ครั้ง
มติดังกล่าวจะทำให้ ส.ส.อังกฤษ มีสิทธิลงมติเลือกเงื่อนไขการออกจากอียูได้เอง ในการประชุมวันพรุ่งนี้ โดยขณะนี้มี 7 ทางเลือกให้พิจารณา อาทิ การจัดลงประชามติรอบใหม่, การถอนตัวแบบไม่มีข้อตกลง (No-deal Brexit) การยึดตามแบบอย่างของนอร์เวย์ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงตลาดร่วมยุโรป ในฐานะชาติสมาชิกข้อตกลงเศรษฐกิจยุโรป และชาติสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมการค้าเสรียุโรป สำหรับการลงมติเมื่อวานนี้ มี ส.ส.พรรคอนุรักษ์นิยมของนายกฯ เมย์ ร่วมลงมติเห็นชอบร่วมด้วยถึง 30 คน ขณะที่นายกฯ เมย์ ระบุว่า ไม่สามารถรับประกันได้ว่ารัฐบาลของเธอจะปฏิบัติตามผลการลงมติของสภาได้ แต่ยืนยันว่าตัวเธอพร้อมจะมีส่วนร่วมในกระบวนการที่เกี่ยวข้องอย่างสร้างสรรค์
ด้านนายเจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานในฐานะฝ่ายค้าน แสดงความยินดีที่สภามีมติดังกล่าว โดยคอร์บิน เห็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลล้มเหลวในเรื่องเบร็กซิทมาโดยตลอด จึงถึงเวลาแล้วที่สภาจะต้องหาทางออกในเรื่องนี้เอง เศรษฐกิจโลกถดถอย “ปัจจัยเสี่ยงใหม่” ซ้ำเติมเบรกซิท
โดยภายหลังการลงมติเข้าควบคุมกระบวนการ Brexit แล้วนั้น ยังได้เรียกร้องให้เทเรซา เมย์ หาหนทางเลือกใหม่ที่อาจจะรวมถึงหนทางการลงประชามติของชาวอังกฤษเป็นครั้งที่ 2 เพื่อให้อังกฤษอยู่ใน EU หรือการยกเลิกกระบวนการ Brexit ทางด้านคณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศเสร็จสิ้นการเตรียมการสำหรับการที่อังกฤษจะถอนตัวออกจาก EU แบบไร้ข้อตกลง ในวันที่ 12 เมษายนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเตือนว่าสถานการณ์ดังกล่าวมีความเป็นไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ที่ประชุมสุดยอดผู้นำ 27 ชาติของ EU เมื่อวันที่ 21 มีนาคมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เลื่อนเวลาที่อังกฤษจะแยกตัวออกจาก EU ตามมาตรา 50 ไปจากวันที่ 29 มีนาคม เป็นวันที่ 22 พฤษภาคม แทนที่จะเป็นวันที่ 30 มิถุนายนตามข้อเรียกร้องของเทเรซา เมย์
อย่างไรก็ตามที่ประชุมผู้นำ EU ได้วางเงื่อนไขเพิ่มเติมไว้ว่า อังกฤษจะต้องมีการลงมติจะโหวตรับร่างข้อตกลง Brexit ครั้งที่ 3 ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งหากว่าปรากฎผลโหวตของรัฐสภาอังกฤษออกมายังคงไม่ร้บร่างข้อตกลง Brexit แล้วทาง EU ก็จะขยายเวลาการบังคับใช้มาตรา 50 ออกไปถึงวันที่ 12 เมษายนเท่านั้น ซึ่งแปลว่า อังกฤษจะถอนตัวออกจาก EU อย่างไร้ข้อตกลงใดๆ
สถานการณ์ของเทเรซา เมย์ ไม่เพียงถูกกดดันจากรัฐสภาอังกฤษ แต่ยังถูกกดดันจากกระแสของประชาชนชาวอังกฤษที่เริ่มออกมาเดินชบวนอีกครั้งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยที่ประชาชนนับหลายแสนคนได้ร่วมเดินขบวนในย่านใจกลางกรุงลอนดอน เพื่อแสดงพลังต่อต้านการแยกตัวออกจาก EU การเดินขบวนที่เรียกว่า Put It To The People เริ่มขึ้นเมื่อเที่ยงวันของวันที่ 23 มีนาคมนั้น โดยมีจุดหมายปลายทางไปที่จัตุรัสด้านนอกอาคารรัฐสภาอังกฤษ เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดลงประชามติ Brexit อีกครั้ง
มาถึงวันนี้ Brexit ไม่ใช่เป็นความเสี่ยงต่อการลงทุน เนื่องจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นล่าสุด ปัจจัยเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจโลกจะตกอยู่ในภาวะถดถอยมากขึ้น หลังจากที่สำนักงานสถิติของเนเธอร์แลนด์รายงานถาวะการค้าโลกเดือนมกราคม ชี้ว่าการค้าโลกชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ถือเป็นการตอกย้ำแนวคิดที่ว่า เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หลังจากที่พบว่าภาวะการค้าโลกลดลง 1.8% ในช่วง 3 เดือนจนถึงเดือนมกราคม 2019 เมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 209 และเมื่อเทียบเป็นรายปี การค้าโลกลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี .-สำนักข่าวไทย