กรุงเทพฯ 25 ม.ค.- ไทย เกาหลีใต้ อินเดีย และหลายเมืองใหญ่ในเอเชียที่เผชิญมลพิษทางอากาศ ต่างเร่งหามาตรการรับมือกับภาวะหมอกทึบ และปกป้องประชาชนจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
แม้ว่ารัฐบาลในประเทศเอเชียจะพยายามหาแนวทางสกัดมลพิษทางอากาศ แต่ดูเหมือนว่ายังไม่บรรเทาลง ขณะที่หลายประเทศต้องรักษาสมดุลให้ได้ระหว่างการคงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น สภาพท้องฟ้าที่กรุงเทพฯไม่สดใสมาหลายสัปดาห์แล้ว จากปัญหาการจราจรแออัด ก่อสร้างเยอะ เผาหญ้า ควันพิษและกากสารพิษจากโรงงาน โรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน และแทบไม่มีลมพัด ทำให้มลพิษทางอากาศสะสม เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กพีเอ็ม2.5 ที่เป็นภัยสุขภาพคนเมืองทั้งระบบหายใจ ปอด และโรคหัวใจ จนหน้ากากอนามัยเอ็น 95 ขายดี รัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญไทยใช้หลายวิธีในการลดปัญหามลภาวะ เช่น พ่นละอองน้ำลดฝุ่น ส่วนเกาหลีใต้งัดมาตรการสู้มลพิษเช่นกัน หลังจากฝุ่นละอองขนาดเล็กเยอะมากจนต้องประกาศเตือนในหลายพื้นที่ รวมทั้งกรุงโซลซึ่งคุณภาพอากาศดิ่งแตะระดับเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 2558 พบค่าพีเอ็ม2.5 กว่า 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กระทรวงสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ประกาศห้ามรถบรรทุกเก่าที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลราว 320,000 คันวิ่งในเมือง ปิดที่จอดรถยนต์ของรัฐ แนะนำให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชน และให้ลดชั่วโมงการก่อสร้างในแต่ละวัน
ขณะที่อินเดียมีปัญหามลพิษต่อเนื่องมาหลายปีและยังไม่บรรเทาลง กรุงนิวเดลีอยู่ในอันดับ 6 ใน 10 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกจากรายงานขององค์การอนามัยโลกเมื่อปีที่แล้ว ค่าพีเอ็ม2.5 พุ่งเกิน 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในสัปดาห์นี้ ซึ่งระดับเกิน 25 ไมโครกรัมก็ถือว่าไม่ปลอดภัยแล้ว รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอินเดียตั้งเป้าหมายลดพีเอ็ม2.5 และพีเอ็ม10 ให้ได้ร้อยละ 20-30 ภายในปี 5 ปี ส่วนจีนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งที่มาของฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพราะมีโรงงานเยอะทั่วประเทศ ส่งฝุ่นควันฟุ้งไปตามเมืองใหญ่ ลอยไปไกลถึงเกาหลีใต้และญี่ปุ่น รัฐบาลจีนมีมาตรการรับมือมลพิษทางอากาศหลายอย่างทั้งทำฝนเทียม สภาพอากาศในกรุงปักกิ่งดีขึ้นเล็กน้อยแต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ องค์การอนามัยโลกรายงานว่า มลพิษทางอากาศเป็นภัยสุขภาพอันดับต้นของปี 2562 คาดว่าประชาชนในโลกทุก 9 ใน 10 คน หายใจเอามลพิษเข้าไปทุกวัน และอากาศสกปรกเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตปีละ 7 ล้านคน .- สำนักข่าวไทย