อังกฤษ 29 ส.ค.- การใช้เทคโนโลยีวีอาร์ หรือเทคโนโลยีเสมือนจริง รักษาโรคความกลัว อย่างโรคกลัวความสูง เป็นอย่างไร ติดตามจากรายงาน
ผู้ที่ชื่นชอบการผจญภัยท้าทาย สะพานกระจกในมณฑลหูหนานของจีนเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ท้าทายบรรดานักท่องเที่ยว หลายคนสามารถเดินข้ามสะพานกระจกนี้ไปอย่างไม่สะทกสะท้าน แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคกลัวความสูง การเดินข้ามสะพานกระจกแห่งนี้กลายเป็นความทรมาน ผู้ป่วยโรคกลัวความสูงบางคนมีอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อย่างเช่น กลัวการเดินขึ้นบันไดบ้าน หรือแม้แต่การกลัวไปห้างสรรพสินค้าที่มีหลายชั้น
จากปัญหาดังกล่าว คณะนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด นำโดย ดร.แดเนียล ฟรีแมน พยายามหาหนทางรักษา โดยนำเอาเทคโนโลยีวีอาร์ หรือ เทคโนโลยีเสมือนจริงมาทดลองรักษาผู้ป่วย ภายใต้โปรแกรมการทดลองรักษาด้วยเทคโนโลยีวีอาร์ ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ผู้เข้ารับการทดลองจะต้องสวมอุปกรณ์เทคโนโลยีวีอาร์
อุปกรณ์ชนิดนี้จะช่วยให้ผู้สวมใส่เหมือนอยู่ในสถานการณ์จริง ผู้เข้ารับการทดลองจะค่อยๆ เรียนรู้ ปรับตัวและพัฒนาเพื่อให้หายจากความหวาดกลัว ระหว่างการทดลอง นักวิทยาศาสตร์จะเพียงแต่เฝ้าสังเกตกิริยาท่าทางของผู้เข้ารับการทดลอง ขณะที่ผู้เข้ารับการทดลองซึ่งสวมอุปกรณ์วีอาร์จะค่อยๆ ปรับตัวกับเหตุการณ์เสมือนจริงตรงหน้าที่เคยหวาดกลัว เพื่อให้สามารถก้าวข้ามความกลัวนั้นไปได้ในที่สุด นอกจากนี้คณะนักวิทยาศาสตร์ชุดนี้ยังเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีวีอาร์เพื่อใช้กับผู้ป่วยโรคจิตเภท
หรือผู้ป่วยที่มีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริงซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม คณะนักวิทยาศาสตร์ชุดนี้ยอมรับว่าการทดลองรักษาด้วยเทคโนโลยีวีอาร์ยังอยู่ในช่วงทดลองและต้องใช้เวลาในการพัฒนา.-สำนักข่าวไทย