บรัสเซลส์ 28 มิ.ย.- ที่ประชุมสุดยอดผู้นำสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) จะหารือเรื่องคนเข้าเมืองที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ ขณะที่มีเสียงเตือนว่าหากอียูไม่สามารถหาข้อตกลงกันได้อาจยิ่งจุดกระแสเบ็ดเสร็จและประชานิยม
อียูยับยั้งคลื่นคนเข้าเมืองได้เป็นจำนวนมากหลังเกิดวิกฤตคนเข้าเมืองในปี 2558 แต่ยังคงเห็นต่างกันเรื่องจะลดจำนวนคนเข้าเมืองรายใหม่อย่างไรและจะทำอย่างไรกับผู้ที่เสี่ยงชีวิตมาถึงฝั่งยุโรป อียูบรรลุข้อตกลงกับตุรกีในปี 2559 ว่าจะให้เงินช่วยเหลือตุรกีรับกลับคนเข้าเมืองที่ล่องเรือมากรีซ ส่งผลให้จำนวนผู้ล่องเรือเสี่ยงชีวิตลดลงจาก 850,000 คนในปี 2558 เหลือ 30,000 คนในปี 2550 แต่สมาชิกบางประเทศต้องการให้ใช้ทั้งการตอบแทนและการลงโทษเพื่อให้ประเทศในแอฟริกายับยั้งไม่ให้คนล่องเรือข้ามมา รวมทั้งต้องการเพิ่มกองกำลังลาดตระเวนพรมแดนที่เรียกว่า ฟรอนเท็กซ์ จาก 1,200 คนเป็น 10,000 คน
คาดกันว่าที่ประชุมสุดยอดผู้นำอียูจะเห็นพ้องเรื่องจุดขึ้นฝั่งนอกยุโรปที่จะนำผู้ได้รับการช่วยเหลือกลางทะเลไปพักชั่วคราวระหว่างรอตรวจสอบคุณสมบัติว่าเป็นผู้ลี้ภัยหรือผู้อพยพทางเศรษฐกิจที่จะต้องถูกส่งกลับประเทศ แต่รายละเอียดยังคลุมเครือและมีปัญหาว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
อีกประเด็นที่เป็นปัญหาถกเถียงกันคือ ระเบียบอียูกำหนดไว้ว่าผู้เข้าเมืองต้องยื่นเรื่องขอลี้ภัยในประเทศที่มาถึง อิตาลีเรียกร้องให้ยกเลิกระเบียบนี้เพราะคนเข้าเมืองมักล่องเรือมาขึ้นฝั่งอิตาลีเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันการที่คนเข้าเมืองสามารถเดินทางไปทั่วอียูทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นระหว่างชาติสมาชิก นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนีที่เปิดรับคนเข้าเมืองกว่าล้านคนเมื่อปี 2558 ถูกรัฐมนตรีมหาดไทยขีดเส้นตายให้บรรลุข้อตกลงกับสมาชิกอื่นให้ได้ภายในสิ้นเดือนนี้เรื่องส่งกลับคนเข้าเมืองที่ขึ้นทะเบียนในประเทศอื่นก่อนเดินทางต่อมายังเยอรมนี
นอกจากนี้ยังมีประเด็นกำหนดโควตารับคนเข้าเมืองเพื่อแบ่งเบาภาระประเทศริมฝั่งอย่างอิตาลีและกรีซ สมาชิกในยุโรปตะวันออกอย่างฮังการี โปแลนด์ เช็ก และสโลวาเกียคัดค้านการกำหนดโควตาถาวร ขณะที่ออสเตรียซึ่งจะรับหน้าที่ประธานหมุนเวียนอียูในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ก็คัดค้านเช่นกัน.- สำนักข่าวไทย