เจนีวา 31 พ.ค. – องค์การอนามัยโลกกล่าววันนี้ว่า จำนวนประชากรทั่วโลกที่สูบบุหรี่มีจำนวนลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสตรี แต่มีเพียง 1 ใน 8 ของประเทศต่าง ๆ ที่สามารถเดินหน้าบรรลุเป้าหมายในการลดการบริโภคยาสูบอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2025
ดักกลาส เบ็ตต์เชอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันโรคไม่ติดต่อขององค์การอนามัยโลก กล่าวในระหว่างการแถลงรายงานเกี่ยวกับทิศทางการบริโภคยาสูบทั่วโลกว่า ในแต่ละปีมีประชากรโลกราว 3 ล้านคนที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการสูบบุหรี่ ซึ่งทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งรวมถึงหัวใจวายและเส้นเลือดในสมองแตก โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตนั้น มีประมาณ 890,000 คน ที่เสียชีวิตจากการสูดควันบุหรี่มือสอง นายเบ็ตต์เชอร์กล่าวว่า ทวีปอเมริกาเป็นเพียงภูมิภาคเดียวที่มีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายในการลดการบริโภคยาสูบให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี 2025 บางส่วนของยุโรปตะวันตกยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้ เนื่องจากไม่สามารถโน้มน้าวให้สตรีเลิกสูบบุหรี่ได้ ในขณะที่การบริโภคยาสูบในตะวันออกกลางกลับเพิ่มขึ้น โดยรวมแล้วบุหรี่คร่าชีวิตคนทั่วโลกปีละมากกว่า 7 ล้านคน ด้วยการทำให้เกิดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการเป็นโรคมะเร็งและโรคหัวใจ แต่ผู้สูบบุหรี่ในจีนและอินเดียกลับไม่ทราบถึงผลกระทบที่เกิดกับสุขภาพ จีนและอินเดียมีจำนวนผู้สูบบุหรี่มากที่สุในโลก ราว 307 ล้านคนและ 106 ล้านคนตามลำดับ จากจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกราว 1,100 ล้านคน โดยมีอินโดนีเซียตามมาที่ 74 ล้านคน.-สำนักข่าวไทย