กัวลาลัมเปอร์ 15 มี.ค.- สหประชาชาติแถลงว่า เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง และน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายให้กับพืชผลและปศุสัตว์ในประเทศกำลังพัฒนาคิดเป็นมูลค่า 96,000 ล้านดอลลาร์ (3 ล้านล้านบาท) ระหว่างปี 2548-2558 ตอกย้ำถึงความจำเป็นในมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากไร้
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(เอฟเอโอ) แถลงรายงานในการประชุมที่กรุงฮานอยของเวียดนามวันนี้ว่า มูลค่าความเสียหายครึ่งหนึ่งของทั้งหมดเกิดขึ้นในเอเชีย นายสเตฟาน บาส ที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงเอฟเอโอและหนึ่งในคณะวิจัยแถลงว่า ภูมิภาคเอเชียมักประสบภัยธรรมชาติร้ายแรง ทั้งพายุและฝนตกหนัก รวมทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ และสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรง ความเสียหายจากภัยแล้งเพียงอย่างเดียวมีมูลค่าถึง 29,000 ล้านดอลลาร์ในภาคการเกษตรของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด ซึ่งเป็นความเสี่ยงใหญ่หลวงต่อความมั่นคงด้านอาหารและรายได้ ขณะที่ภูมิภาคแอฟริกาประสบความเสียหายทางการเกษตรจากภัยธรรมชาติคิดเป็นมูลค่า 26,000 ล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีดังกล่าว ลาตินอเมริกาและแคริบเบียน 22,000 ล้านดอลลาร์ ภัยแล้งถือเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายหนักที่สุดให้กับพืชผลและปศุสัตว์ในทั้งสองภูมิภาค เอฟเอโอยังมีรายงานว่าโรคแมลงศัตรูพืชและโรคติดต่อในสัตว์ทำให้เกษตรกรแอฟริกาเสียหายราว 6,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงและปัญหาท้าทายจากภัยธรรมชาติยิ่งทำให้ความเสี่ยงรุนแรงยิ่งขึ้น แถลงการณ์ระบุว่ารายงานของเอฟเอโอเพื่อเป็นข้อมูลยืนยันให้ผู้กำหนดนโยบายและฝ่ายวางแผนช่วยหามาตรการป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ช่วยเหลือเกษตรกร ทำตามนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนและลดโลกร้อน เอฟเอโอรายงานว่า ทั่วโลกมีประชากรราว 2,500 ล้านคนพึ่งพาการเกษตรเพื่อยังชีพ .-สำนักข่าวไทย