อังกฤษ 25 ม.ค.-นักวิจัยพบว่าผู้คนที่อยู่ในเมืองใหญ่ จะมีความเสี่ยงต่อการมีปัญหาทางจิตมากกว่าคนที่อยู่ในชนบทถึง 3 เท่าตัว และยิ่งเมืองมีขนาดใหญ่ขึ้นเท่าใด ความเสี่ยงที่คนเมืองจะป่วยทางจิต ก็จะเพิ่มขึ้น
เหตุนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันจิตวิทยา โรงพยาบาลมอดส์ลีย์ ในกรุงลอนดอน จึงทำการศึกษาเพื่อให้รู้ว่าอะไร ที่เป็นปัจจัยทำให้คนในเมืองตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการมีปัญหาทางจิต การศึกษานี้ใช้กลุ่มตัวอย่าง 108 คน และใช้แอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “เออร์บาน ไมด์” เป็นเครื่องมือตรวจจับความเคลื่อนไหวของกลุ่มตัวอย่าง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยแต่ละวัน จะมีประเมินสุขภาวะของคนเหล่านี้ ผ่านการตอบคำถามออนไลน์
ด็อกเตอร์ แอนเดรีย เมเชลลี หัวหน้าทีมวิจัย บอกว่าแอพเออร์บาน ไมด์ จะทำให้แพทย์ติดตามความคิดและอารมณ์ ของกลุ่มตัวอย่าง เพื่อหาความเกี่ยวเนื่องกับสถานที่ที่กลุ่มตัวอย่างไป และกิจกรรมที่กลุ่มตัวอย่างทำในแต่ละวัน ตลอดทั้งวัน แอพฯจะมีคำถามให้กลุ่มตัวอย่างตอบ อาทิ ได้ยินเสียงนกไหม เห็นต้นไม้หรือเปล่า ตรงบริเวณนั้นมีเสียงดังหนวกหูหรือไม่ รวมถึง คำถามที่เกี่ยวกับความรู้สึกของกลุ่มตัวอย่างในขณะนั้น การถามคำถามหลายครั้งในแต่ละวัน ก็เพื่อให้การประเมิน มีความถูกต้องแม่นยำมากที่สุด
นักวิทยาศาสตร์ เชื่อว่า ถ้ามีความเข้าใจมากขึ้นว่าธรรมชาติรอบตัวเราแบบไหน ส่งผลดีต่อสุขภาวะและเป็นประโยชน์กับผู้คนอย่างแท้จริง ก็จะสามารถหาทางบำบัดและรักษาการป่วยทางจิตได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังนำไปใช้ในการตัดสินใจ สำหรับการวางฝังเมืองได้อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย