กรุงเทพฯ 19 มิ.ย. – ฟังเสียงสะท้อนปัญหาปากท้องคนเมือง พร้อม 4 ข้อเสนอภาคเอกชนถึงรัฐ ต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ประชาชน
ผลกระทบภาพรวมจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ราคาสินค้าเกือบทุกหมวดหมู่ปรับราคา ก่อนหน้านี้ภาคเอกชนมีข้อเสนอให้รัฐเร่งดำเนินการ ซึ่งเป็นข้อเสนอจากนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เห็นว่าสถานการณ์น้ำมันแพงในตอนนี้เป็นสิ่งเร่งด่วนที่ต้องดูแล และหากราคาดีเซล ทะลุกรอบไปถึง 40 บาท/ลิตร เร็วเกินไปจะยิ่งกระทบต่อต้นทุนผลิต ทำให้สินค้าและบริการทยอยปรับขึ้นราคา ซ้ำเติมประชาชน ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจยิ่งฟื้นตัวได้ช้าลงไปเรื่อยๆ
ประชาชนไม่เชื่อมั่นและกลัวการจับจ่ายใช้สอย เพราะคาดว่าสินค้าจะทยอยแพงขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการบางส่วนอาจจะมีการเก็บกักตุนสินค้า เพื่อไปรอขายในราคาที่สูงต่อไป เกิดปัญหาปริมาณสินค้าตึงตัวได้
สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อออกไป ภาคเอกชนยังเชื่อว่าราคาน้ำมันจะยังคงสูงอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ ดังนั้น ต้องมีการเตรียมออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนไปพร้อมกับการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่สำคัญต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ และหอการค้าไทยจึงเสนอ 4 เรื่องสำคัญ
เริ่มจาก 1.รัฐบาลต้องพยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือถ้าจำเป็นจะต้องขึ้นราคา ให้ทยอยขึ้นเท่าที่จำเป็น เพื่อให้มีการปรับตัว รอให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้มากกว่านี้ 2.การเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ส่วนนี้จำเป็นมากเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ การปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan รอบนี้จะช่วยให้พยุงเศรษฐกิจและฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาเดินหน้าได้
3.จัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่เดือดร้อนจริง สำหรับมาตรการคนละครึ่ง เฟส 5 อาจจะไม่เหมาะกับสถานการณ์ตอนนี้แล้ว เพราะเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาดไว้ คงต้องปรับเอางบประมาณส่วนนั้นมาใช้เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลก่อน และต้องจำกัดการช่วยเหลือ ให้เข้าถึงประชาชนเฉพาะบางกลุ่มที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง และ 4.เรื่องค่าแรงขั้นต่ำ รัฐบาลต้องมาพิจารณาปรับในส่วนนี้ เพื่อให้เหมาะสมกับเงินเฟ้อและค่าครองชีพ
อีกเรื่องที่สำคัญในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเรื่องนี้ หลายฝ่ายเห็นว่าจำเป็นต้องทำไปพร้อมกับมาตรการเสริมสร้างรายได้ให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการค้าขาย อย่างพื้นที่ใน กทม.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปากท้องประชาชน ระหว่างการลงพื้นที่ตามนโยบายผู้ว่าฯ สัญจรครั้งแรก ที่เขตคลองเตย ว่าเห็นถึงความยากลำบากในการประกอบอาชีพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นอาชีพค้าขาย หรืออาชีพที่ต้องอาศัยทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งยังมีคนต้องการการจ้างงานแต่ยังหากันไม่เจอ ซึ่ง กทม. จะสามารถเป็นตัวกลางในการสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้ซื้อกับผู้ขายมาเจอกัน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่ตลาด หรือช่องทางออนไลน์ รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ให้กับประชาชน ซึ่งอาจจะมีการเทรนนิ่งให้เหมาะสมกับฝีมือ ให้รู้ว่าธุรกิจต้องการอะไร ออกใบรับรองทักษะฝีมือ หรือสอนการทำธุรกิจออนไลน์ การไลฟ์ เพื่อช่วยให้เกิดการจ้างงาน ช่วยความเป็นอยู่ประชาชน
นอกจากนี้ทีมข่าวสำนักข่าวไทยได้ลงพื้นที่สำรวจความเห็นประชาชนต่อแนวคิดดังกล่าว เช่น นายเสรี เจ้าของร้านชำ ชุมชนโรงหมูเขตคลองเตย บอกว่าตั้งแต่ขายของชำมา 40 กว่าปี ครั้งนี้ถือว่าย่ำแย่ที่สุด หากมีการเปิดพื้นที่ตลาดใหม่ไม่รู้ว่าจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นหรือไม่ ส่วนการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ตนเองไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี แต่หากทาง กทม. มีนโยบายที่จะเข้ามาสอนก็พร้อมจะเรียนรู้
ด้านนันทนาพร ร้านก๋วยเตี๋ยวมิตร ตลิ่งชัน บอกว่า ครอบครัวสามีขายก๋วยเตี๋ยวมากกว่า 30 ปี ช่วงโควิดกระทบหนัก ตอนนี้เริ่มดีขึ้น มีหน่วยงานติดต่อได้ไปออกบูธบ้าง ขายผ่านช่องทางออนไลน์บ้าง แต่หลังจากเปิดเทอมยอดขายก็ตกลงไปอีก จากที่เคยขายได้วันละ 6,500-7,000 บาท เหลือเพียงวันละ 3,000-4,000 บาท หักต้นทุนแล้วเหลือไม่ถึง 2,000 บาท หากนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ที่จะให้มีพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้ซื้อกับผู้ขายที่มีความถนัดมาเจอกัน เชื่อว่าจะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
ในส่วนของการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อมาเพิ่มยอดขายให้ผู้ประกอบการรายย่อย จริงๆ ในเมือง กทม. และอาจจะเป็นเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำตลาดออนไลน์ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงโซเชียลมีเดีย ระบุว่าเห็นด้วยกับแนวคิด กทม. ที่ต้องทำเรื่องนี้เร่งด่วน การทำช่องทางดังกล่าวเปรียบเสมือนการทำตลาดนัดในออนไลน์ ช่วยให้ผู้ซื้อเจอผู้ขาย เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการด้วยในระดับหนึ่ง.-สำนักข่าวไทย