รีโอเดจาเนโร 7 ก.ค. – บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศ BRICS ต่างแสดงความวิตกกังวลต่อนโยบายกำแพงภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐ ว่าเป็นภัยคุกคามต่อการค้าโลก
รัฐบาลบราซิล ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพการประชุมกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หรือบริกส์ (BRICS) ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 6-7 กรกฎาคม 2568 ได้ออกแถลงการณ์หลังจากที่กลุ่มผู้นำจากประเทศสมาชิก 11 ชาติได้หารือร่วมกันไปแล้วบางวาระ ว่าการกระทำใดๆ ซึ่งเป็นการจำกัดทางการค้า นับเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลให้การค้าโลกยิ่งทรุดต่อไป แม้ว่าแถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้เอ่ยถึงชื่อของสหรัฐ แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันได้ว่าหมายถึงการกระทำของรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างชัดเจน
ประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ของบราซิล กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งแนวคิดพหุภาคีนิยมกำลังถูกบ่อนทำลาย จะยิ่งทำให้เอกราชของนานาประเทศตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงอีกครั้ง เช่นเดียวกับปัญหาต่างๆ ที่ยากจะได้รับการแก้ไขให้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการค้า และ สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง
ด้านผู้นำสหรัฐโพสต์เมื่อค่ำวานนี้ว่า ประเทศที่เข้าร่วมกับนโยบายต่อต้านอเมริกาของบริกส์จะถูกสหรัฐขึ้นภาษีศุลกากรเพิ่มอีกร้อยละ 10
การประชุมบริสก์ครั้งนี้ มีผู้นำ 2 ประเทศมหาอำนาจที่ไม่ได้มาเข้าร่วม คือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำจีนในปี 2555 และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่ประชุมผ่านวิดีโอทางไกล เนื่องจากถูกออกหมายจับสากล หลังจากบุกยูเครน ทำให้ต้องหลีกเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ กลุ่มบริกส์ก่อตั้งขึ้นในปี 2552 เริ่มต้นด้วยสมาชิกผู้ก่อตั้ง 5 ประเทศ คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ปัจจุบันขยายเป็น 10 ประเทศ รวมอียิปต์ เอธิโอเปีย อินโดนีเซีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์.-810(814).-สำนักข่าวไทย