กัวลาลัมเปอร์ 27 พ.ค. – คณะผู้นำอาเซียนที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 ให้การรับรองปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน 2045 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญสำหรับกำหนดวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนอาเซียนในอีก 20 ปีข้างหน้า
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า เมื่อวานนี้มีการเผยแพร่ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน 2045 หลังจากคณะผู้นำอาเซียนให้การรับรองในวันแรกของการประชุมสุดยอดอาเซียน นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียกล่าวdก่อนพิธีลงนามปฏิญญาว่า เอกสารดังกล่าวจะปูทางสำหรับการกำหนดวิสัยทัศน์ในอนาคตของอาเซียน โดยคำนึงถึงความท้าทายที่เกิดขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุม
ผู้นำมาเลเซียกล่าวว่า อนาคตที่อาเซียนต้องการจะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของความยั่งยืนและความครอบคลุม การบูรณาการของอาเซียนจะต้องเน้นที่ประชาชนอย่างแท้จริง ด้วยการปิดช่องว่างการพัฒนา การยกระดับมาตรฐานการครองชีพ ตลอดจนการลงทุนในจิตวิญญาณและศักยภาพของพลเมืองทุกคนของอาเซียน
หนึ่งในการตัดสินใจสำคัญภายใต้ปฏิญญานี้ ได้แก่ การบังคับใช้วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 (ACV 2045) อย่างเป็นทางการ และแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องใน 4 เสาหลัก ได้แก่ การเมือง-ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม-วัฒนธรรม และความเชื่อมโยง
นายเกา กึม ฮวน เลขาธิการอาเซียน กล่าวในการแถลงข่าวก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนว่า วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 มีไว้เพื่อทำหน้าที่เป็นแผนงานเชิงกลยุทธ์ระยะ 20 ปีที่นำไปใช้ได้จริง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาภูมิภาคท่ามกลางความไม่แน่นอนระดับโลก
นายเกากล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อเป็นแนวทางการกำหนดลำดับความสำคัญของงาน โดยที่ยังคงรักษาความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และความเป็นแกนกลางของอาเซียนไว้ แผนงานดังกล่าวยังตระหนักถึงความจำเป็นในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับหุ้นส่วนภายนอก ซึ่งรวมถึงหุ้นส่วนการเจรจา หุ้นส่วนตามภาคส่วน และหุ้นส่วนระดับโลกอีกด้วย
เอกสารเชิงกลยุทธ์ฉบับนี้มองไปยังอนาคตข้างหน้า โดยยอมรับถึงการเปลี่ยนแปลงในภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ และปัญหาเร่งด่วนอื่นๆ พร้อมให้ความกระจ่างว่าอาเซียนควรเดินหน้าต่อไปอย่างไร
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซียได้ออกแถลงการณ์ว่า อาเซียนปรารถนาที่จะเป็นตลาดเดียวที่เจริญรุ่งเรืองพร้อมด้วยแรงงานที่มีทักษะสูงและครอบคลุม มีการเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยผลิตภาพและนวัตกรรม และผสมผสานความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่าผ่านวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2045 นอกจากนี้วิสัยทัศน์ฯ ยังส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน เพื่อลดความเสี่ยงของภูมิภาคต่อความผันผวนภายนอก เพิ่มการจัดหาเงินทุนสำหรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และบรรเทาความเสี่ยงหรือผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ดังนั้นด้วยวิสัยทัศน์ที่ปรับปรุงใหม่ คาดว่าอาเซียนจะเป็นผู้เล่นหลักในเศรษฐกิจโลกและเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 4 ของโลก โดยยึดหลักการเติบโตอย่างยั่งยืนและธรรมาภิบาล เสริมพลังด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และตอบสนองต่อสารพัดโอกาสใหม่
มาเลเซียเป็นประธานอาเซียนในปี 2568 และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมสุดยอดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้หัวข้อ “ความครอบคลุมและความยั่งยืน” (Inclusivity and Sustainability) อาเซียนก่อตั้งขึ้นในปี 2510 ปัจจุบันมีสมาชิก 10 ประเทศ ประกอบด้วยบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม.-814.-สำนักข่าวไทย