ซิดนีย์ 19 ต.ค.- คณะนักโบราณคดีชาวออสเตรเลียประกาศโครงการสร้างทุ่งไหหินแบบเสมือนจริง 3 มิติที่ สปป.หวังให้ผู้เยี่ยมชมได้ประสบการณ์เสมือนจริงว่ากำลังเดินผ่านพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้จนถึงขณะนี้
ทุ่งไหหินเป็นที่ตั้งของหินขนาดใหญ่รูปทรงไหนับพันชิ้น กระจายอยู่ทั่วที่ราบสูงเชียงขวาง แขวงเชียงขวาง ทางเหนือของ สปป.ลาว นักโบราณคดียังไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการสร้างหินรูปทรงไหดังกล่าว จนถึงขณะนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ของทุ่งไหหินยังคงไม่สามารถเข้าถึงได้เนื่องจากยังมีกับระเบิดและระเบิดที่ถูกทิ้งไว้ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม ล่าสุดมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียและมหาวิทยาลัยโมนาชได้ใช้โดรนบันทึกภาพ 3 มิติของพื้นที่ทุก 10 เซนติเมตรเพื่อให้สามารถสำรวจพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยวิธีปกติและลดอันตรายในการทำงาน ขณะเดียวกันกำลังหาทางใช้กล้องถ่ายภาพสีหลายช่วงคลื่นที่สามารถบันทึกแสงจากคลื่นความถี่ที่ไม่สามารถมองเห็น เช่น รังสีอินฟราเรด และใช้ไลดาร์ที่เป็นเทคโนโลยีสำรวจภูมิประเทศด้วยการวัดระยะจากระยะเวลาในการเดินทางของลำแสงเลเซอร์จากตัวรับสัญญาณไปยังวัตถุเป้าหมายแล้วเดินทางกลับมายังตัวรับสัญญาณเพื่อสร้างแผนที่ที่มีความแม่นยำในระดับเซนติเมตร
คณะนักวิจัยออสเตรเลียจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปสร้างทุ่งไหหินแบบเสมือนจริง เอื้อให้นักโบราณคดีเข้าไปสำรวจและขุดสำรวจได้เสมือนจริง นอกจากนี้ยังใช้แผนที่ที่สร้างขึ้นไปเฝ้าติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ และนำไปสู่การสร้างพิพิธภัณฑ์ให้ผู้เยี่ยมชมได้เดินสำรวจและศึกษาทุ่งไหหินแบบเสมือนจริง หรืออาจไปถึงขั้นพัฒนาให้สามารถดูแผนที่ 3 มิติของทุ่งไหหินจากสมาร์ทโฟนได้ทุกแห่งทั่วโลก.-สำนักข่าวไทย