กรุงเทพฯ 29 มี.ค.- เซฟ เดอะ ชิลเดรน (Save the Children Thailand) แสดงความห่วงใยต่อเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ พร้อมเสนอแนวทางเชิงนโยบายเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
เซฟ เดอะ ชิลเดรน แถลงว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา เซฟ เดอะ ชิลเดรน ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนากรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา พ.ศ. 2565–2573 และนำเสนออย่างเป็นทางการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกโรงเรียนในประเทศไทยสามารถเตรียมพร้อมและรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กที่เปราะบางที่สุดในสถานการณ์ฉุกเฉิน
กรอบความปลอดภัยดังกล่าวมี 3 เสาหลักสำคัญ โดยในบริบทของแผ่นดินไหวและภัยฉุกเฉินอื่น ๆ เซฟ เดอะ ชิลเดรนขอเน้นย้ำ “เสาที่ 2 การบริหารจัดการความปลอดภัยและความต่อเนื่องทางการศึกษา” ซึ่งประกอบด้วยแนวทางที่สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันที ได้แก่ การมีแผนรับมือภัยพิบัติและการฝึกซ้อมอพยพอย่างสม่ำเสมอในสถานศึกษา การเตรียมมาตรการรองรับหากเกิดการหยุดเรียนหรือโรงเรียนไม่สามารถเปิดทำการได้ การตรวจตราความเสียหายจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น การกำหนดแนวปฏิบัติ (SOPs) สำหรับภัยพิบัติแต่ละประเภท และระบุบทบาทหน้าที่ของครูและบุคลากรให้ชัดเจน รวมถึงการจัดวางระบบการสื่อสารภายในโรงเรียนและระหว่างผู้ปกครองกับสถานศึกษาในภาวะฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ
จากประสบการณ์ของเซฟ เดอะ ชิลเดรน ในการตอบสนองต่อแผ่นดินไหวในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น เนปาล ตุรกี ญี่ปุ่น และอัฟกานิสถาน พบว่า 75% ของการเสียชีวิตมักเกิดจากอาคารพังถล่มภายในไม่กี่วินาทีแรก และเด็กหญิงมักมีความเสี่ยงสูงกว่า เนื่องจากข้อจำกัดด้านสังคม วัฒนธรรม และการเข้าถึงข้อมูล ดังนั้น การฝึกให้เด็กรู้วิธี “หมอบ ป้อง เกาะ” เมื่อเกิดแผ่นดินไหว และการมีแผนอพยพที่เข้าใจง่ายและปฏิบัติได้จริง คือมาตรการพื้นฐานที่สามารถช่วยชีวิตเด็กได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
เซฟ เดอะ ชิลเดรนขอเสนอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษา พิจารณานำแนวทางในกรอบความปลอดภัยไปใช้จริงในระดับนโยบาย โดยอาจเริ่มจากพื้นที่เสี่ยงสูง พร้อมกำหนดเป้าหมายให้ทุกโรงเรียนในประเทศไทยมีระบบจัดการความปลอดภัยที่มีมาตรฐาน และดำเนินการได้ทันทีในภาวะวิกฤต
นายกีโยม ราชู ผู้อำนวยการบริหาร เซฟ เดอะ ชิลเดรน กล่าวว่า เซฟ เดอะ ชิลเดรน และภาคีเครือข่ายได้จัดทำข้อเสนอ “กรอบความปลอดภัยรอบด้านในสถานศึกษา” และส่งให้รัฐบาลไปแล้วอย่างเป็นทางการ จึงอยากเห็นความชัดเจนว่า ข้อเสนอนั้นถูกนำไปใช้จริงในระดับนโยบาย แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นล่าสุด คือ สัญญาณเตือนว่าความเสี่ยงมีอยู่จริง และเด็กยังคงไม่ได้รับการปกป้องอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นแผนรับมือภัยพิบัติ การฝึกซ้อมอพยพ หรือแม้แต่ระบบเตือนภัยที่ผู้ใหญ่และเด็กสามารถเข้าใจและตอบสนองได้ทันที ควรเริ่มลงมือในสิ่งที่รู้ว่าจำเป็น ก่อนที่เด็กจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เราทุกคนรู้ว่า “ป้องกันได้ตั้งแต่แรก”
นอกจากนี้ เซฟ เดอะ ชิลเดรน ยังมีข้อเสนอเสริมเรื่องการจัดการความปลอดภัยในระดับครัวเรือน โดยส่งเสริมให้ผู้ปกครองนำ “8 ข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยของเด็กเมื่อเกิดแผ่นดินไหว” ไปใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของเซฟ เดอะ ชิลเดรน ที่ www.savethechildren.or.th/ .-814.-สำนักข่าวไทย