เยรูซาเลม 3 ต.ค.- นับจากสมาชิกกลุ่มฮามาสในกาซาข้ามพรมแดนเข้ามาโจมตีอิสราเอลโดยไม่ทันตั้งตัวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 มาจนถึงขณะนี้สถานการณ์ความขัดแย้งได้ขยายวงกว้าง คู่ขัดแย้งกับอิสราเอลมีจำนวนเพิ่มขึ้น และยังไม่มีวี่แววว่าความขัดแย้งจะคลี่คลายลง
เว็บไซต์สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานวิชาการของสหรัฐที่เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐ ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2464 ได้สำรวจความเปลี่ยนแปลงใน 4 ด้านสำคัญที่เกิดขึ้นตลอด 1 ปีที่ผ่านมาดังนี้
ปีแห่งการคิดทบทวนนโยบายด้านกลาโหมของอิสราเอล
ก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2566 การเมืองในอิสราเอลเต็มไปด้วยความร้อนแรงและการประท้วงเรื่องการปฏิรูประบบตุลาการ คนในประเทศแตกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนให้ปฏิรูปเพื่อจำกัดอำนาจที่ล้นเหลือของฝ่ายตุลาการ ขณะที่อีกฝ่ายคัดค้านเพราะมองว่าเป็นจุดจบของระบอบประชาธิปไตย ความขัดแย้งนี้ถูกลืมไปทันทีเมื่อกลุ่มฮามาสก่อเหตุสะเทือนขวัญคนทั้งอิสราเอลและทั้งโลก ชาวอิสราเอลหันมาร่วมใจกันสนับสนุนกองกำลังป้องกันอิสราเอลให้ปราบฮามาส คนหนุ่มสาวที่เป็นทหารสำรองกลับเข้ากรมกองเพื่อรับใช้ชาติอย่างพร้อมเพรียง ลบคำปรามาสของคนรุ่นก่อนที่เคยคิดว่าคนรุ่นหลังอาจจะไม่เดินตามรอยบรรพบุรุษที่นำพาประเทศฝ่าสงครามมาแล้วในปี 2491, 2499, 2510 และ 2516 นับตั้งแต่รัฐอิสราเอลก่อตั้งขึ้นในปี 2491
อย่างไรก็ดี การชุมนุมประท้วงตามท้องถนนในอิสราเอลกลับมาอีกครั้ง แต่เป็นการประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลหาทางช่วยชีวิตตัวประกันที่ถูกฮามาสลักพาตัวไปมากกว่า 250 คน แม้มีการปล่อยตัวประกันแล้วบางส่วน แต่เมื่อเวลายิ่งผ่านไป ชะตากรรมของตัวประกันที่ยังไม่ได้กลับบ้านก็ยิ่งมืดมน นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้ไม่เป็นที่นิยมของประชาชนอยู่แล้ว เพราะมีประเด็นในอดีตหลายเรื่องถูกตำหนิอย่างหนักว่าไม่พยายามช่วยตัวประกัน ครอบครัวตัวประกันจัดการชุมนุมทุกสัปดาห์เพื่อกดดันรัฐบาล
ขณะเดียวกันผู้นำทางการเมือง ข่าวกรอง และทางทหารในอิสราเอลที่เคยคิดมาตลอดว่า หากปล่อยให้ฮามาสปกครองฉนวนกาซาต่อไป อาจทำให้ฮามาสพอใจและไม่เปิดฉากโจมตีอิสราเอล ขณะนี้ได้ตระหนักแล้วว่า ไม่ควรทึกทักเอาเองเรื่องความเชื่อและเจตนารมณ์ของฮามาส และเป็นเหตุให้อิสราเอลต้องเปลี่ยนความคิดที่มีต่ออิหร่านและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนว่า ควรมองที่ศักยภาพ ไม่ใช่เจตนารมณ์ที่คิดเอาเองอีกต่อไป อิสราเอลตัดสินใจเปลี่ยนกติกาในเดือนกันยายนด้วยการทุ่มสรรพกำลังลดทอนศักยภาพทางทหารของฮิซบอลเลาะห์ และภายใน 2 สัปดาห์ อิสราเอลก็สร้างความสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ด้วยการสังหารนายฮัสซัน นาสรัลเลาะห์ ผู้นำฮิซบอลเลาะห์และแกนนำระดับสูงที่กำลังประชุมกันในศูนย์บัญชาการใต้ดินชานกรุงเบรุต
ความสูญเสียด้านมนุษยธรรมของชาวปาเลสไตน์
สงครามระหว่างกองกำลังป้องกันอิสราเอลกับนักรบฮามาสได้สร้างความเสียหายที่เป็นลูกหลงอย่างใหญ่หลวงให้แก่ชาวปาเลสไตน์ ชีวิตของพวกเขาต้องเปลี่ยนไปอย่างไม่มีทางหวนกลับคืน เมื่อบ้านเรือนที่เคยอยู่อาศัยถูกอิสราเอลระดมถล่มพังยับเยินโดยระบุว่า เป็นจุดที่ฮามาสใช้เป็นที่หลบซ่อนตัว หลบซ่อนอาวุธและตัวประกัน ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขกาซาระบุว่า นับจนถึงเดือนกันยายน มีคนในกาซาล้มตายแล้วไม่ต่ำกว่า 41,000 คน ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 95,800 คน และกลายเป็นคนพลัดถิ่น 1.9 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 2.2 ล้านคน
อาคารบ้านเรือนในกาซาถูกทำลายเสียหายราบคาบ มีสภาพไม่ต่างจากเมืองต่าง ๆ ในเยอรมนีที่ถูกถล่มในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงพยาบาลที่มีอยู่ทั้งหมด 36 แห่ง เหลือเพียง 17 แห่ง และสามารถให้บริการได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ซ้ำเติมด้วยการที่อิสราเอลปิดด่านข้ามแดนเข้ากาซา ทำให้ชาวปาเลสไตน์ขาดแคลนอาหาร น้ำ ยา และสิ่งจำเป็น โดยต้องอาศัยสิ่งของบรรเทาทุกข์จากภายนอกที่ลำเลียงเข้ามาอย่างยากลำบาก หน่วยงานของสหประชาชาติเผยว่า ความช่วยเหลือเกือบครึ่งหนึ่งถูกขัดขวางหรือไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในกาซา
และเมื่ออิสราเอลเริ่มใช้ปฏิบัติการบุกภาคพื้นดินในกาซา ชาวปาเลสไตน์ถูกสั่งให้อพยพจากทางเหนือลงไปอยู่รวมกันทางตอนใต้ที่แออัดอยู่แล้ว เพราะเป็นพื้นที่เดียวที่อิสราเอลประกาศให้เป็นเขตปลอดภัย สถานการณ์เลวร้ายลงอีกเมื่อพื้นที่ดังกล่าวพบเด็กป่วยเป็นโปลิโอรายแรกในรอบ 25 ปี หน่วยงานบรรเทาทุกข์พากันเตือนว่า จะเกิดภาวะอดอยากในกาซาหากยังไม่มีการหยุดยิง
ขณะเดียวกันชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ในเขตเวสต์แบงก์ก็ได้รับผลพวงความเดือดร้อนจากสงครามในกาซาเช่นกันแม้ว่ามีพื้นที่อยู่คนละฝั่ง เนื่องจากอิสราเอลได้ปิดล้อมพื้นที่ ห้ามชาวปาเลสไตน์เดินทางเข้าไปทำงานในอิสราเอล มีการบุกตรวจค้นบ้านเรือนและสถานที่ต่าง ๆ เพื่อตามล่าตัวสมาชิกกลุ่มติดอาวุธกระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ในเมืองรามัลเลาะห์ระบุว่า มีชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์และเยรูซาเลมตะวันออกถูกสังหารมากกว่า 700 คน หน่วยงานของยูเอ็นเผยว่า มีสิ่งปลูกสร้างถูกทำลายเกือบ 1,800 แห่ง มีคนพลัดถิ่น 4,450 คน และคน 1 ใน 3 กลายเป็นคนว่างงาน
“กลุ่มอักษะแห่งการต่อต้าน” ของอิหร่านจับมือกันแน่นขึ้น
แกนหลักในนโยบายต่างประเทศของอิหร่านตลอดทศวรรษที่ผ่านมาเรียกว่า กลุ่มอักษะแห่งการต่อต้าน (Axis of Resistance) เป็นกลุ่มติดอาวุธที่อิหร่านให้การสนับสนุนทั่วตะวันออกกลาง โดยมีฐานที่มั่นอยู่ในอิรัก เลบานอน ซีเรียและเยเมน กลุ่มเหล่านี้เปิดโอกาสให้อิหร่านแสดงอำนาจแลกกับการให้ความคุ้มครอง และตราบใดที่อิหร่านไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุของกลุ่มเหล่านี้โดยตรง อิหร่านก็ยังคงลอยตัว ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ มี 2 กลุ่มที่โดดเด่นที่สุด คือ ฮามาสและฮิซบอลเลาะห์
ฮามาสซึ่งเป็นมุสลิมสุหนี่ ยอมให้อิหร่านซึ่งเป็นมุสลิมชีอะห์ ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ชาวมุสลิมทั้งปวง อิหร่านแสดงความชื่นชมฮามาสที่โจมตีอิสราเอลแบบสายฟ้าแลบ โดยคาดหมายไว้แล้วว่า อิสราเอลจะต้องตอบโต้อย่างรุนแรง แต่เชื่อว่าฮามาสจะเอาตัวรอดได้เมื่อเวลาผ่านไป
ส่วนฮิซบอลเลาะห์ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธมุสลิมชีอะห์ที่อิหร่านสร้างขึ้นในปี 2523 ได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอล คู่ขนานไปกับที่อิสราเอลทำสงครามกับฮามาสในกาซา อิหร่านหวังว่า การโจมตีพร้อมกันและความกลัวว่าความขัดแย้งจะลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาคจะทำให้นานาชาติกดดันให้อิสราเอลยอมทำข้อตกลงที่จะปล่อยให้ฮามาสปกครองกาซาต่อไป แต่การณ์ไม่เป็นไปตามที่อิหร่านคาด เพราะอิสราเอลหันมาระดมถล่มศัตรูทางเหนืออย่างฮิซบอลเลาะห์ ปลิดชีพนายนาสรัลเลาะห์ที่เป็นผู้นำกลุ่ม และเปิดฉากบุกภาคพื้นดิน
อิหร่านเองกำลังเตรียมตัวรับมือกับการตอบโต้จากอิสราเอล แม้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายอาจไม่ต้องการให้สงครามลุกลาม แต่สถานการณ์การสู้รบอาจบีบให้ผู้นำแต่ละฝ่ายเข้าสู่จุดที่ไม่ต้องการ อิหร่านได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอลโดยตรงเป็นครั้งแรกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยได้โจมตีถึง 2 ครั้งในปีนี้ คือ เดือนเมษายนและเดือนนี้
สงครามในกาซาตลอด 1 ปีที่ผ่านมาทำให้อิหร่านได้รับผลพลอยได้อย่างคาดไม่ถึง จากการที่อิสราเอลถูกโดดเดี่ยวจากเวทีนานาชาติมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศโลกใต้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ อิสราเอลกลายเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งในการเมืองอเมริกา เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างคนต่างรุ่น ขณะที่อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านกลับกลายเป็นขวัญใจของนักศึกษาที่ประท้วงตามสถานศึกษาในสหรัฐ ยิ่งความขัดแย้งในตะวันออกกลางยืดเยื้อ ชาติตะวันตกยิ่งมีแนวโน้มจะมีความคิดเห็นแบ่งขั้วกันมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่ออิหร่านและศัตรูของอิสราเอล
“ความสัมพันธ์พิเศษ” สหรัฐ-อิสราเอลตึงเครียดขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิสราเอลก่อตัวขึ้นในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี เมื่อเขาประกาศระหว่างพบกับนางโกลดา แมร์ รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลในปี 2505 ว่า ความสัมพันธ์ของสหรัฐกับอิสราเอลเป็นความสัมพันธ์พิเศษ เหมือนกับความสัมพันธ์ของสหรัฐกับสหราชอาณาจักร
ตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมาสหรัฐได้มุ่งมั่นต่อการให้ความช่วยเหลือในการปกป้องอิสราเอล ผ่านความสัมพันธ์ทางกลาโหมที่กำหนดให้สหรัฐต้องสร้างหลักประกันว่า อิสราเอลจะมีความได้เปรียบทางทหารอย่างมีคุณภาพเหนือศัตรูของอิสราเอล ความสัมพันธ์พิเศษนี้ไม่ได้หมายถึงความมั่นคงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงประวัติศาสตร์ การเมือง ศาสนาและศีลธรรม ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนต้องให้การสนับสนุนแก่อิสราเอลอย่างเต็มที่ เมื่อฮามาสบุกเข้ามาสังหารคนในอิสราเอลมากถึง 1,200 คนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 แต่ในขณะเดียวกันช่วงเวลาดังกล่าวได้หว่านเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความตึงเครียดให้แก่รัฐบาลไบเดนกับรัฐบาลเนทันยาฮู
ช่วงเดือนแรก ๆ ของการสู้รบในกาซา ประธานาธิบดีไบเดนไม่ได้กังวลเรื่องแผนการรบของอิสราเอลเท่าใดนัก จนกระทั่งยอดผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์เริ่มเพิ่มมากขึ้น และอาจส่งผลทางการเมืองต่อไบเดนที่สนับสนุนอิสราเอล ผู้นำสหรัฐเริ่มยอมรับความเจ็บปวดของชาวปาเลสไตน์ และวิจารณ์ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลอย่างอ้อม ๆ เมื่อการสู้รบย่างเข้าสู่ปี 2567 การที่ทำเนียบขาวพยายามเรียกร้องให้มีการหยุดยิง ทำให้ความสัมพันธ์ตึงเครียด เพราะอิสราเอลมองว่า การหยุดยิงโดยที่ฮามาสไม่ยอมแพ้จะยิ่งทำให้ฮามาสได้เปรียบ ความสัมพันธ์ตึงเครียดขึ้นอีก เมื่อทหารอิสราเอลสังหารเจ้าหน้าที่ขององค์กรเวิลด์เซ็นทรัลคิตเชน ที่เป็นองค์กรบรรเทาทุกข์ในสหรัฐ เสียชีวิต 7 คนโดยไม่เจตนา เป็นเหตุให้สหรัฐเพิ่มการกดดันอิสราเอล
ความสัมพันธ์ของสหรัฐและอิสราเอลเขม็งเกลียวมากยิ่งขึ้นเมื่อสถานการณ์ในเลบานอนเริ่มเลวร้ายลงในเดือนกันยายน เริ่มจากเหตุเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารจำนวนมากระเบิดพร้อมกัน ทำให้สมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์และพลเรือนจำนวนหนึ่งเสียชีวิต ตามด้วยการใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศปูพรมถล่มเลบานอน สหรัฐและฝรั่งเศสเรียกร้องให้หยุดยิงเป็นเวลา 21 วัน เพราะเกรงว่าสงครามจะบานปลาย แต่คณะรัฐมนตรีสงครามของอิสราเอลที่ดูเหมือนจะยอมถอย กลับอนุมัติปฏิบัติการระดมยิงขีปนาวุธสังหารผู้นำฮิซบอลเลาะห์และแกนนำทางตอนใต้ของกรุงเบรุตเมื่อวันที่ 27 กันยายน อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลอิสราเอลไม่สนใจคำแนะนำของสหรัฐ ไม่ได้ทำให้สหรัฐเปลี่ยนนโยบายปกป้องอิสราเอล เห็นได้จากการที่สหรัฐช่วยยิงสกัดขีปนาวุธบางส่วนที่อิหร่านระดมยิงใส่อิสราเอลเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม
Final Thoughts: สงครามรอบนี้จะยุติลงเมื่อใด
การที่อิสราเอลเปิดศึกหลายด้าน ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่า สงครามรอบนี้จะยุติลงเมื่อใด และจะยุติลงได้อย่างไร ปฏิบัติการของอิสราเอลที่เริ่มจากการตอบโต้ฮามาสที่บุกข้ามพรมแดนเข้ามาสังหารผู้คนและลักพาตัวคนเมื่อ 1 ปีก่อน กลายเป็นการทำลายล้างชีวิตผู้คนในกาซา ตามที่อิสราเอลประกาศว่าจะไม่ยุติปฏิบัติการจนกว่าจะทำลายกลุ่มฮามาสได้สิ้นซาก และในขณะที่เป้าหมายในกาซายังไม่สำเร็จ อิสราเอลได้หันมาจัดการกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ เริ่มด้วยการปูพรมโจมตีทางอากาศ ตามด้วยปฏิบัติการบุกภาคพื้น คล้ายกับยุทธวิธีที่อิสราเอลใช้กับกาซามาก่อน พร้อมประกาศว่าเป้าหมายของการรุกเลบานอนครั้งนี้คือ ปรับ “สมดุลความมั่นคง” เพื่อให้ชาวอิสราเอลที่ต้องลี้ภัยสามารถกลับเข้าถิ่นฐานตามแนวพรมแดนทางเหนือได้ แต่น่าคิดว่า เป้าหมายที่แท้จริงของอิสราเอลคืออะไร เพราะดูเหมือนว่า การกำจัดผู้นำของฮามาสและฮิซบอลเลาะห์ที่บรรลุผลไปแล้วยังไม่ใช่จุดหมายปลายทางของอิสราเอลในสงครามรอบนี้ ยิ่งเมื่อมองจากวิธีการที่ใช้มาและลำดับขั้นตอนของการรุกไล่ศัตรู ตั้งแต่การใช้อุปกรณ์สื่อสารเป็นอาวุธอย่างล้ำลึกมืดดำ แล้วค่อย ๆ ตัดแขนตัดขาฮิซบอลเลาะห์ อิสราเอลน่าจะคิดใหญ่กว่านั้น
ส่วนสมการความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ใหญ่ยิ่งกว่านั้น คือ อิหร่าน ยิ่งน่าหนักใจ— การโจมตีด้วยขีปนาวุธเกือบ 200 ลูกเข้าใส่อิสราเอลเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ไม่ต้องถามเลยว่า อิสราเอลจะตอบโต้หรือไม่ แต่เป็นคำถามว่า จะตอบโต้อย่างไร เมื่อไหร่ และจะพุ่งเป้าไปที่นิวเคลียร์อิหร่านหรือไม่ สายเหยี่ยวในรัฐบาลอิสราเอลมองการโจมตีของอิหร่านครั้งนี้ว่า เป็นการหยิบยื่นโอกาสให้อิสราเอลที่จะเอาคืนแบบสะเทือนฟ้าสะเทือนดิน ที่เกิดขี้นเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี
แต่สำหรับผู้ใฝ่สันติภาพ ย่อมเป็นเรื่องยากขึ้นทุกทีที่จะเตือนว่า ยิ่งก่อสงคราม ยิ่งเกิดสงครามตามมาไม่จบสิ้น -814(812).-สำนักข่าวไทย