กรุงเทพฯ 7 ก.ย. – นักวิชาการไทยชี้ ปัญหาบนคาบสมุทรเกาหลีที่กำลังคุกรุ่น อาจกินเวลาอีกนาน หนทางที่อาจเป็นไปได้ คือ แต่ละชาติที่เกี่ยวข้องนำประเด็นปัญหากลับสู่โต๊ะเจรจา เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา
ในงานเสวนาวิชาการ “เจาะลึกเกาหลีเหนือ:กิจการภายในและการต่างประเทศ” โดยศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการไทยเห็นสอดคล้องกันว่า สถานการณ์ความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลี อาจไม่ยุติได้ในเร็ววัน เพราะสหรัฐ กับเกาหลีเหนือ ต่างไม่ยอมซึ่งกันและกัน ทั้งยังปมขัดแย้งในอดีต เป็นปัจจัยพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ยังพอมีหนทางที่จะผ่อนคลายความตึงเครียดได้ โดยทางที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ การเดินหน้าเปิดเจรจารอบใหม่
รศ.ดร.ดำรงค์ ฐานดี ผู้อำนวยการศูนย์เกาหลีศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า สถานการณ์ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีในขณะนี้ มีตัวแปรสำคัญที่สุดคือการตัดสินใจที่ไม่สามารถคาดเดาได้ของ 2 ผู้นำ คือ นายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เพราะท่าทีของชาติส่วนใหญ่เลือกวางตัวเป็นกลาง หรือแสดงท่าทีประนีประนอม ความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลี อาจกินเวลาอีกนาน เพราะมีแนวโน้มว่า นายคิม จอง อึน จะปกครองเกาหลีเหนืออีกนาน และไม่น่าเปลี่ยนแปลงนโยบายง่ายๆ
ด้านนายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ ผู้สื่อข่าวและคอลัมนิสต์อาวุโส ให้ความเห็นว่า ทางออกของวิกฤติการณ์คาบสมุทรเกาหลีเหนือเป็นไปได้หลายทิศทาง แต่ที่เป็นไปได้มากที่สุด คือการกลับสู่โต๊ะเจรจา ซึ่งอาจมีรูปแบบและเงื่อนไขเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะการเจรจา 6 ฝ่ายเพื่อยุติปัญหานิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ที่ถือเป็นกลไกหลัก ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งนี้ ชาติสมาชิกอาเซียน สามารถใช้โอกาสนี้ เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยได้ เนื่องจาก อาเซียนมีจุดแข็ง คือ วางบทบาทความเป็นกลางในทุกสถานการณ์ นอกจากนี้ อาเซียน ยังมีเครื่องมือที่สำคัญ คือ เวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ASEAN Regional Forum ที่ทั้งเกาหลีเหนือ และชาติมหาอำนาจคู่ขัดแย้ง ต่างก็ร่วมเป็นสมาชิก
อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิชาการ มองว่า โอกาสที่จะเกิดสงคราามโลกครั้งที่ 3 เป็นไปได้ยาก เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านเกาหลีเหนือ อย่างเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ไม่ต้องการสงคราม และชาติสหภาพยุโรป ไม่มีท่าทีร่วมด้วยกับสหรัฐ.- สำนักข่าวไทย