มอสโก 14 มี.ค- วันที่ 15-17 มีนาคมนี้ รัสเซียจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่หลายฝ่ายกำลังจับตาเป็นพิเศษ เพราะสิ่งที่ผู้คนสนใจ ไม่ได้อยู่ที่ผลการเลือกตั้ง แต่อยู่ที่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในรัสเซียหลังการเลือกตั้ง และเส้นทางครองอำนาจของวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้ที่มีแนวโน้มสูงมากว่าจะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียเป็นสมัยที่ 5 ไปจนถึงปี 2573 เป็นอย่างน้อย
เลือกตั้งที่ไหน เมื่อใด และอย่างไร
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องเป็นพลเมืองรัสเซียอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และไม่ต้องโทษจำคุกด้วยความผิดทางอาญา ข้อมูลของคณะกรรมการกลางการเลือกตั้งรัสเซียระบุว่า จำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในรัสเซียและดินแดนในยูเครนที่รัสเซียยึดครองมีทั้งหมด 112.3 ล้านคน ขณะที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศมี 1.9 ล้านคน
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รัสเซียจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นเวลา 3 วัน จากเดิมที่จัดเพียงวันเดียว และเป็นครั้งแรกที่จะมีการลงคะแนนออนไลน์ใน 27 แคว้น และไครเมียที่รัสเซียยึดมาจากยูเครนเมื่อ 10 ปีก่อน ส่วน 4 แคว้นที่รัสเซียผนวกหลังจากเปิดฉากบุกยูเครนในปี 2565 อย่างโดเนตสก์ ลูฮันสก์ ซาปอริซเซีย และเคอร์ซอน ก็จะมีการจัดการเลือกตั้งเช่นกัน ท่ามกลางเสียงประณามของยูเครนและชาติตะวันตก ตอนนี้เริ่มมีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในบางแคว้นแล้ว
ใครเป็นคู่แข่งของปูติน
เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ปูติน อดีตสายลับเคจีบี วัย 71 ปี ใช้พิธีเฉลิมฉลองบุคลากรของกองทัพที่ทำสงครามยูเครน หรือที่รัสเซียเรียกว่า ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน ประกาศเรื่องจะลงเลือกตั้งอีกสมัย ตอนนี้เขาครองแชมป์ผู้นําที่ดํารงตําแหน่งยาวนานที่สุดของรัสเซีย โดยเป็นมาแล้ว 4 สมัย ได้รับเลือกครั้งแรกในปี 2543 จากนั้นได้รับเลือกตั้งอีกในปี 2547, 2555 และ 2561 หากชนะเลือกตั้งครั้งนี้เขาจะครองตำแหน่งต่อไปอีก 6 ปีจนถึงปี 2573 เพราะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2563 ขยายวาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีจาก 4 ปีเป็น 6 ปี และเปิดทางให้ปูตินลงเลือกตั้งได้อีก 2 สมัย ดังนั้นหากเขาชนะเลือกตั้งทั้ง 2 สมัย ก็จะครองอํานาจยาวไปจนถึงปี 2579 ซึ่งถึงเวลานั้นเขาก็จะมีอายุ 83 ปี
ปูตินจะลงเลือกตั้งในฐานะผู้สมัครอิสระเพราะพรรคยูไนเต็ดรัสเซียที่สนับสนุนรัฐบาลรัสเซียกำลังถูกมองว่า มีการทุจริตและไร้ประสิทธิภาพ ถึงขั้นที่อเล็กเซ นาวาลนี แกนนำฝ่ายต่อต้านที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาในเรือนจำแถบขั้วโลกเหนือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เรียกพรรคนี้ว่า “พรรคคนโกงและหัวขโมย”
ปูตินไม่ได้เป็นผู้สมัครเพียงคนเดียว แต่มีผู้สมัครอีกหลายคนที่ล้วนแต่เป็นพรรคพันธมิตรกับรัฐบาลรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นนิโคไล คาริโทนอฟ ( Nikolai Kharitonov) จากพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเคยลงแข่งขันกับปูตินมาแล้ว เลโอนิด สลุตสกี (Leonid Slutsky) จากพรรคเสรีประชาธิปไตย และวลาดิสลาฟ ดาวานคอฟ (Vladislav Davankov) จากพรรคประชาชนใหม่ ผู้สมัครเหล่านี้สนับสนุนโยบายของรัฐบาลรัสเซีย รวมถึงสนับสนุนการทำสงครามในยูเครน
ส่วนฝ่ายต่อต้านที่อยากเป็นผู้สมัครตัวเลือกให้ชาวรัสเซีย ถ้าไม่ถูกตัดสิทธิ ก็หนีออกนอกประเทศ หรือเผชิญชะตากรรมแบบนาวาลนีที่กลับเข้าประเทศแล้วถูกคุมขังต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 19 ปี เขาเคยลงสมัครชิงประธานาธิบดีในปี 2561 แต่ถูกตัดสิทธิ ครั้งนั้นปูตินชนะไปด้วยคะแนนเสียงเกือบร้อยละ 78 ฝ่ายค้านอีกสองคนคืออิลยา ยาชิน (Ilya Yashin) และ วลาดิมีร์ คารา-มูร์ซา (Vladimir Kaza-Murza) ก็หมดสิทธิลงสมัครเพราะถูกตัดสินจําคุกเป็นเวลา 8 ปีครึ่งและ 25 ปีตามลําดับฐานวิพากษ์วิจารณ์ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในการทำสงครามกับยูเครน
คาดหวังอะไรกับการเลือกตั้ง
สำนักวิจัยความคิดเห็นสาธารณะของรัสเซีย (VTsIOM) สำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์พบว่า ชาวรัสเซียร้อยละ 79 ตั้งใจลงคะแนนให้ปูติน ขณะที่บางส่วนไม่สนใจและรู้สึกสิ้นหวังกับการเลือกตั้งท่ามกลางภาวะสงคราม ชาวรัสเซียที่โพสต์ความคิดเห็นต่อต้านการทำสงครามลงบนโลกออนไลน์ หรือเพียงแค่กดไลค์หรือแชร์ข้อความดังกล่าวล้วนถูกตั้งข้อหาคดีอาญา ขณะที่อีกหลายหมื่นคนถูกจับ ปรับหรือไม่ก็ถูกบังคับให้ออกนอกประเทศ มีผู้ชายรัสเซียอย่างน้อยหนึ่งล้านคนหลบหนีออกนอกประเทศหลังเกิดสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการประกาศ “เกณฑ์ทหาร” ในเดือนกันยายน 2565
ผู้สังเกตการณ์มีความคาดหวังเพียงเล็กน้อยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะดำเนินไปอย่างอิสระและเป็นธรรม และได้วิพากษ์วิจารณ์การขยายเวลาในการลงคะแนนจาก 1 วันเป็น 3 วันรวมถึงการลงคะแนนทางออนไลน์ว่า เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้การเลือกตั้งยิ่งไม่โปร่งใสมากขึ้นไปอีก
กลุ่มฝ่ายค้านเคยกล่าวหาการลงคะแนนแบบดิจิทัลในการเลือกตั้ง สส.ปี 2564 ว่า มีการบิดเบือน มีรายงานการทุจริตมากมาย มีการบังคับลงคะแนน และการยัดไส้บัตรลงคะแนน ส่วนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2561 องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปตำหนิว่า ไม่ใช่การแข่งขันที่แท้จริง เพราะพนักงานของรัฐ ทหาร และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายถูกบังคับให้ไปลงคะแนนให้กับปูติน ผู้สังเกตุการณ์บางคนถูกข่มขู่และปฏิเสธไม่ให้เข้าไปยังคูหาเลือกตั้ง
กระแสประท้วงวันเลือกตั้งของฝ่ายต่อต้านจะจุดติดหรือไม่
นาวาลนีเคยเรียกร้องตอนยังมีชีวิตให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปแสดงตัวที่หน่วยเลือกตั้งในตอนเที่ยงของวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการลงคะแนนเพื่อส่งสัญญาณไปในทิศทางเดียวกันว่า ทางการไม่สามารถหยุดยั้งการต่อสู้ของพวกเขา นาวาลนีมองว่า ปูตินใช้การเลือกตั้งเพื่อขอประชามติในการทำเรื่องต่างๆ รวมถึงการทำสงครามกับยูเครน นอกจากนั้นเขายังชักชวนให้ชาวรัสเซียช่วยกันทําลายแผนการของปูตินด้วยการไม่สนใจต่อผลการเลือกตั้งจอมปลอมในวันนั้นและร่วมกันขับไล่นายปูติน
ฝ่ายค้านในรัสเซียเคยชุมนุมครั้งใหญ่ช่วงฤดูหนาวปี 2554-2555 หลังการเลือกตั้ง สส.และการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ถูกมองว่ามีการบิดเบือน ทางการตอบโต้ด้วยการใช้กำลังปราบปรามครั้งใหญ่ และในการเลือกตั้งปีนี้ ทางการมีอาวุธเพิ่มขึ้นด้วยการใช้เครื่องมือทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์จดจําใบหน้าหรือข้อมูลโทรศัพท์มือถือที่สามารถระบุตัวตนของผู้ประท้วงได้อย่างแม่นยำ
TNA News-Now-Next: Final Thoughts
ถึงแม้ว่าทุกฝ่ายฟันธงตรงกันว่า ชัยชนะของปูตินในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นสิ่งแน่นอนยิ่งกว่านอนมา และจะยิ่งเป็นการกระชับอำนาจของเขาที่ครองมายาวนานเกือบ 25 ปี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีเดิมพันและผลพวงที่ต้องพิสูจน์หลายเรื่อง โดยเฉพาะเมื่อเป็นการเลือกตั้งในประเทศที่ก่อสงครามใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษกับเพื่อนบ้าน ผลการลงคะแนนจะสะท้อนแรงหนุนและการยอมรับของประชาชนชาวรัสเซียมากน้อยขนาดไหน นอกจากนั้นการเมืองในประเทศก็ต้องพิสูจน์ด้วยเช่นกันว่า เมื่อสิ้นนาวาลนีไปแล้ว ฝ่ายต่อต้านจะรวบรวมสรรพกำลังได้เพียงพอท้าทายอำนาจปูตินได้หรือไม่ ชาวรัสเซียทั่วไปจะเห็นว่า รัสเซียควรยืนหยัดเพื่อสังคมการเมืองที่เสรีและเปิดกว้าง หรือจะเห็นว่า การที่ผู้มุ่งหวังโค่นบัลลังค์ย่อมไร้ที่ยืนในยุคของปูติน เป็นเรื่องที่เป็นปกติธรรมดา.-818(814/812).-สำนักข่าวไทย