ไมแอมี 2 ส.ค. – นักวิจัยเผยผลศึกษาพบว่า ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนจะส่งผลให้พืชผลสำหรับการบริโภคเป็นอาหารหลักอย่างข้าวและข้าวสาลี มีปริมาณโปรตีนลดน้อยลง ต่อไปอาจมีผู้ป่วยขาดโปรตีนเพิ่มมากขึ้น การเจริญเติบโตจะหยุดชะงักและอาจต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ผลศึกษาโดยคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่า ประชากรโลก 150 ล้านคนสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคขาดโปรตีนภายในปี 2593 เนื่องจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มสูงขึ้นในอากาศ อย่างไรก็ดี นักวิจัยยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเหตุใดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงทำให้ปริมาณโปรตีนและสารอาหารอื่นๆ ในพืชลดน้อยลง แต่คำถามที่ยังไม่ได้คำตอบนี้จะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงทั่วโลก
นักวิจัยเผยว่า ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เข้มข้นขึ้นจะดูดปริมาณโปรตีนในข้าวบาร์เลย์ลงร้อยละ 14.6 โปรตีนในข้าวลดลงร้อยละ 7.6 ในข้าวสาลีลดลงร้อยละ 7.8 และในมันฝรั่งลดลงร้อยละ 6.4 ส่งผลให้ประชากรใน 18 ประเทศได้รับโปรตีนจากอาหารที่รับประทานน้อยลงไปกว่าร้อยละ 5 ภายในปี 2593
มีการตั้งข้อสมมติฐานว่า คาร์บอนไดออกไซด์อาจจะเพิ่มปริมาณแป้งในพืช ทำให้โปรตีนและสารอาหารอื่นลดน้อยลง แต่นักวิจัยอาวุโสที่จัดทำรายงานกล่าวว่า ผลจากการศึกษาทดลองไม่ได้เป็นไปตามทฤษฏีดังกล่าว และว่า ยังไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าเป็นเพราะเหตุใดกันแน่ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอื่นที่แสดงให้เห็นว่า ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์แปรผกผันกับแร่ธาตุสำคัญในพืชผล อาทิ เหล็กและสังกะสี ด้วย ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า ปัญหาการขาดสารอาหารทั่วโลกอาจจะเลวร้ายลงในอนาคต.- สำนักข่าวไทย