นิวยอร์ก 13 พ.ค.- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติหรือยูเอ็น (UN) กำลังเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นจากการที่ไซโคลนโมคา (Mocha) จะพัดถล่มบังกลาเทศและเมียนมาราวเที่ยงวันอาทิตย์นี้
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานหรือไอโอเอ็ม (IOM) แจ้งว่า ไซโคลนโมคากำลังมุ่งหน้าตรงไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ เจ้าหน้าที่ไอโอเอ็มเผยจากเมืองค็อกบาซาร์ที่มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาเกือบล้านคนอาศัยตามค่ายต่าง ๆ เผยว่า บังกลาเทศมีแผนความเตรียมพร้อมขนานใหญ่ไว้แล้ว โดยมีไอโอเอ็มเข้าร่วมด้วย ค่ายผู้ลี้ภัยแต่ละค่ายจะมีอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วคอยดูแล 100 คน และมีการใช้ระบบเตือนภัยด้วยธงในค่ายผู้ลี้ภัย 17 แห่งที่ไอโอเอ็มดูแลอยู่ อาสาสมัครทุกคนมีชุดอุปกรณ์ป้องกันตัวส่วนบุคคล และมีการจัดเตรียมชุดสุขอนามัยและอุปกรณ์ที่พักฉุกเฉินไว้พร้อม ด้านองค์การอนามัยโลกแจ้งว่า ได้เตรียมพร้อมรถฉุกเฉิน 40 คัน และทีมแพทย์เคลื่อนที่ 33 ทีมไว้ที่ค็อกซ์บาซาร์แล้ว เช่นเดียวกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งยูเอ็นหรือยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) ที่ได้จัดเตรียมอาหารแห้ง 230 ตัน และบิสกิตเสริมสารอาหาร 24.5 ตัน รวมทั้งเตรียมพร้อมจัดส่งอาหารร้อนวันละ 50,000 ชุดในกรณีที่จำเป็น
ด้านสำนักงานมนุษยธรรมยูเอ็นแจ้งว่า ชุมชนในเมียนมาได้รับแจ้งให้เตรียมตัวรับมือไซโคลนโมคา และมีการประกาศใช้แผนเตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินด้านมนุษยธรรมทั่วทั้งเมียนมาแล้วตั้งแต่ต้นสัปดาห์ องค์กรมนุษยธรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐยะไข่ได้ตระเตรียมบุคลากรและสิ่งจำเป็นเท่าที่สามารถหาได้ ปัจจุบันมีคนในรัฐยะไข่และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมาต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากถึง 6 ล้านคน และมีคนพลัดถิ่นประมาณ 1 ล้าน 2 แสนคน แต่แผนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมามูลค่า 764 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 25,815 ล้านบาท) จนถึงขณะนี้ได้รับเงินสนับสนุนเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น.-สำนักข่าวไทย