กรมอุตุฯ 11 ส.ค. – กรมอุตุฯ ประกาศฉบับที่ 8 “พายุมู่หลาน” เคลื่อนขึ้นฝั่งเวียดนามแล้ว ส่งผลให้ไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก ช่วงวันที่ 11-13 ส.ค.นี้
กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ เรื่อง “พายุมู่หลาน” ฉบับที่ 8 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ระบุว่า เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (11 ส.ค.65) พายุโซนร้อน “มู่หลาน” บริเวณอ่าวตังเกี๋ย ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเวียดนามตอนบน เมืองก๋วงนินห์ โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 170 กิโลเมตร ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 21.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 107.4 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง คาดว่าพายุมีแนวโน้มอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ในระยะต่อไปตามลำดับ ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้
วันที่ 11 สิงหาคม 2565
ภาคเหนือ : จังหวัดตาก เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ และอุตรดิตถ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด
วันที่ 12 สิงหาคม 2565
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย ขอนแก่น อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร และนครพนม
ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
วันที่ 13 สิงหาคม 2565
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย และเพชรบูรณ์
สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส. – สำนักข่าวไทย