กทม. 5 มี.ค.-อดีตจเรตำรวจ เผยคดี “แตงโม” เป็นอีกคดีตัวอย่างที่สังคมไม่เชื่อมั่นกระบวนการสอบสวน จนเกิดการคาดเดาประเด็นข้อสงสัย แนะตำรวจยึดพยานหลักฐาน เปิดข้อมูลตรงไปตรงมา ขณะที่การตกลงชดใช้ค่าเสียหายระหว่างคู่กรณี อาจมีผลทางคดีในชั้นศาล
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรอง ผบก.จเรตำรวจ และเลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ความเห็นกรณีคดีการเสียชีวิตของดาราสาวแตงโม ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ โดยระบุว่า ข้อมูลที่ออกมาในขณะนี้ มีทั้งหลักฐาน มีทั้งการคาดเดาและความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งตำรวจต้องทำงานไปตามพยานหลักฐานเป็นหลัก ถือว่าเป็นหลักทั่วไปที่ตำรวจต้องปฏิบัติ ประเด็นอยู่ที่ว่าการทำงานของตำรวจต้องมีการชี้แจงให้ประชาชนทราบ แล้วทำงานอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ หรือมีลับลมคมใน ซึ่งระบบการสอบสวนคดีอาญา ที่ข้อมูลอยู่ที่ตำรวจเพียงฝ่ายเดียว ทำให้คนขาดความเชื่อถือและไม่เชื่อมั่น เพราะฉะนั้นต้องพยายามชี้แจงข้อมูลในการทำงานให้ประชาชนรับทราบ แต่ไม่ใช่การชี้แจงพยานหลักฐานในคดี ไม่ใช่อ้างว่าอยู่ในสำนวน เป็นความลับในสำนวน แต่การไม่ชี้แจงต่อประชาชนจะก่อให้เกิดปัญหาได้
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวว่า การรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทางคดีที่สำคัญ ประกอบด้วยเหตุที่ตายและพฤติการณ์ที่ตายเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้เหตุที่ตายชัดแล้วว่าขาดอากาศหายใจจากการจมน้ำเป็นพยานหลักฐานที่เชื่อถือได้เพราะเป็นวิทยาศาสตร์ ส่วนพฤติการณ์ที่ตายยังไม่มีหลักฐานชัดเจน ขณะนี้มีเพียงพยานจากคำบอกเล่าของ “แซน” คนที่นั่งอยู่ที่ท้ายเรือว่า “แตงโม” มาปัสสาวะท้ายเรือและตกน้ำไป นี่คือพยานบุคคล ไม่มีพยานอย่างอื่น ส่วนคนที่เหลือก็ไม่เห็นว่าตกลงไปในลักษณะใด คำให้การของพยานจะเชื่อถือได้หรือไม่ ต้องมาตรวจสอบวัตถุพยานแวดล้อมต่างๆ ตกไปแล้วโดนอะไรหรือไม่ อย่างเช่นแผลที่ขาก็มีความสำคัญ หากตรงกันก็ชัดเจนว่าตกท้ายเรือ ก็เป็นข้อยุติ แต่หากจะไม่เชื่อถือคำให้การของ “แซน” ต้องมีพยานหลักฐานมาหักล้างว่ามีพยานเห็นเป็นอย่างอื่นอย่างใด เช่นวัตถุพยานอื่นๆ ขณะนั้นมีกล้องวงจรปิดบนฝั่งแม่น้ำหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่พยานให้การ ก็ต้องมีการถูกดำเนินคดีในฐานให้การเท็จต่อเจ้าพนักงาน ประเด็นตอนนี้อยู่ที่ว่ายังไม่มีหลักฐานในการมาหักล้างคำให้การของพยานถึงพฤติการณ์ที่ตาย โดยเฉพาะการระบุว่า “แตงโม” นั่งปัสสาวะที่ท้ายเรือ และตกน้ำในข้อเท็จจริงแล้วอาจมีทั้งเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้
พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุว่า การที่ตำรวจไม่ชี้แจงการทำงานแม้กระทั่งความเร็วของเรือขณะวิ่ง ขณะนี้ยังไม่มีใครออกมาให้ข้อมูล หรือข้อมูลคนขับเรือตัวจริง กว่าจะได้รับการยืนยันก็ใช้เวลาถึง 5 วัน ทำให้เกิดข้อสงสัยความมีเงื่อนงำในการสอบสวนรวมไปถึงการชันสูตรศพ ซึ่งปกติที่จังหวัดนนทบุรี จะส่งศพไปที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ รังสิต ก็มีการเปลี่ยนไปที่นิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งมีการอ้างว่ามีผู้ใหญ่สั่งให้เปลี่ยนสถานที่ เรื่องนี้นำไปสู่การทำให้เกิดปัญหา
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวอีกว่า กรณีที่มีการตกลงชดใช้ค่าเสียหายกับแม่ของแตงโม 30 ล้านบาท ประเด็นนี้เมื่อคดีเข้าสู่ศาล อาจมีผลทางคดี ซึ่งข้อหาประมาทที่มีการตั้งกับ 2 คน คือ “ปอและโรเบิร์ต” คดีลักษณะนี้ หากไม่มีหลักฐานอื่น ผู้ต้องหารับสารภาพและมีการชดใช้ความเสียหาย ศาลก็อาจจะรอลงอาญาได้ ซึ่งมีแนวโน้มสูง คงไม่ถึงโทษจำคุก เพราะได้มีการบรรเทาความเสียหาย ส่วนข้อตกลงเงินทองเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีในขณะนี้ ซึ่งจะต้องรอให้ข้อเท็จจริงทางคดีอาญาเป็นข้อยุติก่อน ก็เป็นเรื่องของการรับปากระหว่างคู่กรณี แต่สุดท้ายไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีการเปิดประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตกน้ำโดยตรง เช่นสาเหตุของการไปล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาในวันดังกล่าว ที่มีการกล่าวอ้างว่าจะมีการนำ “แตงโม” ไปให้กับให้ผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับคดีโดยตรงกับการตกน้ำ เป็นการที่หลายคนอาจจะปกปิดไว้นำไปสู่ความมีพิรุธ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งตำรวจไม่ควรให้น้ำหนักมากหากไม่มีความผิดทางด้านอาญา หากมีข้อมูลหลักฐานก็ว่าไปตามกฎหมาย
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวด้วยว่า คดีของแตงโม เป็นอีกคดีที่สะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบการสอบสวนคดีอาญาประเทศเรา ซึ่งข้อมูลและหลักฐานอยู่ในมือของตำรวจฝ่ายเดียว หน่วยงานอื่นเช่น พนักงานอัยการไม่มีส่วนรู้เห็น ไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ บางประเทศที่อัยการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง สามารถเข้ามาดูพยานหลักฐานได้ตั้งแต่ตอนเกิดเหตุ ควรเข้ามาสิ ควรมีสิทธิ์เข้ามาตรวจดูพยานหลักฐานได้ ถือเป็นความบกพร่องของระบบการสอบสวนที่ทำให้ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่น แม้จะทำอย่างตรงไปตรงมาและยิ่งมีเงื่อนงำ ยิ่งบานปลาย เช่น การไม่ตรวจยึดวัตถุพยานเรือลำเกิดเหตุตั้งแต่ต้น เมื่อมีเงื่อนงำอื่นๆ ทำให้สังคมยิ่งตั้งคำถามในการทำคดี.-สำนักข่าวไทย