สธ. 22 ก.พ. – สธ.เผย ครม.ตีกลับให้โควิดยังรักษาฉุกเฉิน หลังจากเดิม 1 มี.ค. เตรียมกลับมารักษาตามสิทธิ ด้าน สปสช. แจงเหตุคนโทร 1330 ไม่ติด เหตุมากเกือบ 50,000 คน/วัน ยังไม่นับโทรซ้ำอีก ทำให้เฉลี่ยมีคนตกค้างวันละ 1,000 คน แนะแอดไลน์ @nhso เพื่อติดต่อกลับ โดย กทม.ปริมณฑลคนตกค้างมากสุด เผยงบปี 65 ใช้ดูแลโควิดไปแล้ว 31,600 ล้านบาท
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ครม.มีมติให้กลับไปใช้ UCEP Covid ตามเดิม หลังจาก รมว.สธ.ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้รักษาโควิดตามสิทธิ์ มีผลวันที่ 1 มีนาคมนี้ โดยยืนยันว่าให้ทบทวนทำความเข้าใจสื่อสารกับประชาชนและ รพ.เอกชน เรื่องอาการสีเขียว เหลือง แดง และการรักษาแบบ HI และ CI และยังไม่มีกำหนดกลับไปใช้ตามสิทธิ แม้ รมว.ลงนามไปแล้ว ก็ไม่มีผล เพราะยังไม่ประกาศในราชกิจจาฯ พร้อมย้ำเตรียมหารือกับทาง คปภ.ให้ชัดเจนอีกครั้ง เรื่องการเบิกจ่ายประกันโควิดกับผู้ที่ต้องการใช้สิทธิประกันภัย โดยยืนยันว่าผลการตรวจ ATK ถือเป็นการยืนยันตามหลักการตรวจสอบโควิด โดยไม่จำเป็นต้องใช้ RT-PCR ยืนยันว่าติดเชื้ออีกต่อไป และสามารถใช้การรับรองของแพทย์ได้ และกำหนดให้การดูแลแบบที่บ้าน HI (Home Isolation ) หรือ การดูแลในสถานแยกกัก CI (Community Isolation) และ Hospitel ถือเป็นสถานพยาบาลตามกำหนดในการรักษาดูแลผู้ป่วยโควิด พร้อมเผยว่าขณะนี้ยังคงเหลือ Hospitel 200 แห่ง จำนวนเตียงกว่า 36,000 เตียง
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ยอมรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้แต่ละวันมีผู้โทรศัพท์เข้ามาเพื่อขอเข้าระบบในหมายเลข 1330 มากที่สุดเมื่อวานนี้ (21 ก.พ.) 49,005 สาย มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากเดิมวันที่ 20 ก.พ.มีคนโทร 28,000 สาย และเมื่อมีจำนวนผู้โทรเข้ามากย่อมตกค้าง เกิดการโทรซ้ำมากกว่า 5 ครั้ง และมีผู้ตกค้างรอการตอบกลับเฉลี่ยมากถึงวันละ 1,000 คน และหากเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ มีผู้ตกค้างมากถึง 3,000 คนต่อวัน เดิม สปสช.และกรมการแพทย์ทำข้อตกลงกันว่าเมื่อผู้ป่วยติดเชื้อโทรศัพท์เข้ามาขอเข้าระบบ HI หรือ CI จะต้องส่งข้อมูลให้สถานพยาบาลที่รับผิดชอบและโทรกลับภายใน 6 ชม. แต่กลับค้างบางรายกว่าจะโทรกลับข้ามวัน ตรงนี้พบปัญหาใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งในส่วนของ กทม. ทาง สปสช.ได้ประสานกับหน่วยงาน ทั้งสำนักการแพทย์ กทม. และสำนักเขตแต่ละเขต แต่ก็ยังพบปัญหาประชาชนตกค้างเข้าระบบไม่ได้ พบมากในเขต คันนนายาว 330 คน บางกะปิ 101 คน และลาดกระบัง 93 คน
นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับการเข้าระบบในต่างจังหวัดผ่านหมายเลข 1330 ไม่พบปัญหา โดยจังหวัดอุดรธานี ผู้ป่วยกว่า 90% สมัครใจเข้ารับการรักษาแบบ HI ยังแนะนำว่าประชาชนที่โทร 1330 แล้วยังไม่ได้รับการตอบกลับสามารถสมัครเพิ่มเพื่อนใน LINE @nhso เพื่อแชทไลน์ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ เพราะแม้ว่าจะมีการเพิ่มคู่สายจำนวนมาก แต่การตกค้างและมีคนโทรซ้ำอาจจะไม่ได้ทำให้ประชาชนได้รับบริการเร็ว ช่องทางไลน์อาจสะดวกมากกว่า ส่วนเรื่องดราม่ากับภาคประชาชนที่มักพบคนติดโควิดมาอาศัยอยู่ริมถนนและหากสถานพยาบาลเข้าพักไม่ได้นั้น ยืนยันทาง สปสช.มีช่องทางติดต่อพิเศษให้กับหน่วยงานภาคประชาชน
นพ.จเด็จ กล่าวว่า งบประมาณสำหรับโควิดปี 2563 มากถึง 130,000 ล้านบาท และปี 2564 จำนวน 51,000 ล้านบาท และปี 2565 เพิ่งผ่านไปไม่นานใช้งบประมาณไปแล้ว 31,600 ล้านบาท เตรียมขอเพิ่มอีก 51,000 ล้านบาท รวม 82,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวครอบคลุมการตรวจรักษาต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ทาง สปสช.ได้รับค่าใช้จ่ายในการตรวจ RT-PCR ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ไม่จำเป็นต้องจ่ายแพงอีกต่อไป โดยการตรวจหาสารพันธุกรรมไวรัส 2 ยีนส์ จ่าย 900 บาท ซึ่งเป็นราคากลางที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนดจ่ายให้กับสถานพยาบาล และราคานี้ผู้ติดเชื้อสามารถนำมาเบิกได้กับทาง สปสช. -สำนักข่าวไทย