กทม. 19 ต.ค.-ตัวแทนธนาคารไทย ระบุผู้เสียหายที่ถูกตัดเงินจากบัญชีผิดปกติ ไม่ต้องเข้าแจ้งความ ให้แจ้งข้อมูลกับธนาคาร เพื่อรวบรวมหลักฐานส่งตำรวจ ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเร่งประสานทุกหน่วยทั้งในและต่างประเทศ ตรวจสอบเส้นทางการเงิน พิสูจน์ทราบตัวคนร้าย
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางแก้ปัญหากรณีการตัดเงินที่ผิดปกติ ผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของประชาชนจำนวนมาก ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น มีผู้เสียหายจากผู้ใช้บัตรเครดิต กว่า 5,700 ราย และผู้ใช้บัตรเดบิตกว่า 4,800 ราย ความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งทางธนาคาร ได้รับเป็นผู้เสียหายในกรณีนี้ โดยธนาคารต่างๆ จะมีการตรวจสอบความผิดปกติในการโอนเงินของบัญชีต่างๆ ควบคู่กับการรับแจ้งจากประชาชนที่ได้รับความเสียหาย เพื่อรวบรวมข้อมูลและหลักฐาน ส่งให้ตำรวจติดตามหาตัวคนร้ายต่อไป ทำให้ผู้เสียหาย ไม่ต้องเข้าแจ้งความกับตำรวจ แต่สามารถเข้าติดต่อธนาคารเจ้าของบัญชีได้โดยตรง ขณะเดียวกัน จะมีการตั้งผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น เชื่อมั่นว่า จะสามารถตามจับคนร้ายได้ แม้จะเป็นชาวต่างชาติ ก็มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือสัญญาต่างตอบแทน แต่เบื้องต้น ขอให้รู้ตัวคนร้ายให้แน่ชัดก่อน
ด้าน ตัวแทนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ระบุว่า ทาง ปปง. มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก ทำให้สามารถร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารต่าง ๆ ตรวจสอบเส้นทางทางการเงิน ย้อนกลับไปหาตัวคนร้ายได้
ส่วน นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ย้ำว่า ระบบธนาคารมีความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งในส่วนของการเยียวยา กรณีที่ผู้เสียหายได้รับผลกระทบจากบัตรเดบิต จะได้รับการคืนเงินภายใน 5 วันทำการ ส่วนบัตรเครดิต ธนาคารจะยกเลิกรายการดังกล่าว ผู้เสียหายไม่ต้องชำระเงินตามยอดเรียกเก็บที่ผิดปกติ โดยทางธนาคาร พร้อมรับผิดชอบคืนเงินให้ผู้เสียหายทุกกรณี ซึ่งเมื่อธนาคาร ตรวจสอบพบความเสียหายแล้ว จะติดต่อกลับไปยังผู้เสียหาย เพื่อคืนเงินต่อไป
ขณะที่ นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด มหาชน ยอมรับว่า กรณีนี้ คนร้ายใช้ช่องโหว่ของการอำนวยความสะดวกด้านการทำธุรกรรมทางการเงิน ในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ สร้างความเสียหายเกิดขึ้น ซึ่งมีหลายวิธีการ แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ทั้งหมด เพราะอาจเป็นการชี้ช่องให้มิจฉาชีพนำไปใช้ได้ โดยจากนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารต่างๆ จะมีการปรับปรุงระบบให้ดีที่สุด
ส่วนนายธวัช ไทรราหู ประธานชมรมตรวจสอบและป้องกันการทุจริต ธนาคารยูโอบี จำกัด มหาชน กล่าวถึงข้อกังวลของประชาชนบางส่วน ที่อาจไม่เคยทำบัตรเดบิตหรือเครดิต แต่ถูกหักเงินในบัญชีไป โดยยืนยันว่า ไม่ได้เกิดจากแอปดูดเงินอย่างที่มีข้อกังวล ส่วนกรณีนี้ มีการนำข้อมูลของบัตรเครดิต และบัตรเดบิต ไปสร้างความเสียหายให้กับประชาชน โดยเฉพาะบัตรเดบิต ที่มีการผูกไว้กับบัญชีเงินฝากของประชาชน เมื่อมีการถูกตัดเงิน จึงเกิดผลกระทบทันที แต่กรณีที่ผู้เสียหายไม่เคยผูกบัญชีไว้กับการใช้จ่ายใดๆ นั้น ก็อาจได้รับผลจากการใช้บริการร้านค้าออนไลน์บางประเภทได้ เช่น การซื้อสติ๊กเกอร์ไลน์ผ่านร้านค้า, การเช่าเว็บไซต์ หรือการได้สิทธิเข้าเล่นเกมรายครั้ง ซึ่งจากนี้ ต้องเดินหน้าให้ความรู้กับประชาชนมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย