กรุงเทพฯ 5 ต.ค. – รมว.เกษตรฯ มั่นใจกรมชลประทานสามารถบริหารจัดการน้ำได้ เนื่องจากวางแผนดำเนินงานไว้ล่วงหน้า เร่งผลักดันงบประมาณก่อสร้างพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาใน จ.นนทบุรี ซึ่งเป็น “ฟันหลอ” อีก 10 จุด ป้องกันน้ำท่วมซ้ำรอยปี 54 ในระยะยาว พร้อมสั่งทำสัญลักษณ์แจ้งเตือนระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำสำคัญเพื่อให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ ลดความตระหนก
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ย้ำให้นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขอุทกภัยประจำปีที่วางไว้ ยืนยันว่า ปีนี้ไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยปี 54 แน่นอน พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ซึ่งเดือดร้อนจากน้ำล้นตลิ่ง ได้กำชับให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้มากที่สุด
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ได้ประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัดนนทบุรี ซึ่งได้รับรายงานว่า ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีพนังกั้นน้ำนั้น ยังมีพื้นที่ที่เว้นช่วง ไม่ได้ก่อสร้าง 10 จุด จึงจะผลักดันงบประมาณประจำปี 2567-2568 กว่า 3,000 ล้านบาท ให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร เพื่อใช้ก่อสร้างตลอดแนว ซึ่งจะแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว ไม่ให้ซ้ำรอยปี 2554
นอกจากนี้ ยังแนะให้กรมชลประทาน ทำสัญลักษณ์แจ้งเตือนระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำสำคัญๆ ซึ่งมักใช้อ้างอิงสถานการณ์น้ำ เช่น สถานี C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ สถานี C.29 อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยอาจทาสี แบ่งเป็น สีเขียว เหลือง แดง ที่มาตรวัดระดับน้ำ หรือติดธงแบบเดียวกับที่สถานีวัดน้ำ M.7 อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ประชาชนจะได้ทราบว่า ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นนั้นอยู่ในภาวะที่ยังปลอดภัย เฝ้าระวัง หรืออันตราย เพราะการรายงานเพียงตัวเลขระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างเดียว หากประชาชนไม่เข้าใจจะสร้างความตื่นตระหนกได้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า การระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) แจ้งเตือนให้กรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานี เฝ้าระวัง โดยอาจมีระดับสูงขึ้นอีก ระหว่างวันที่ 7-10 ตุลาคมนี้ ทางกรมชลประทานใช้ทุกระบบบริหารจัดการ ทั้งเร่งระบายตามทางน้ำหลัก โดยควบคุมการปิด-เปิด ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสมุทรปราการ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเลให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เร่งระบายผ่านสถานีสูบน้ำชายทะเล ได้แก่ สถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร สถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ อีกทั้งยังผันน้ำส่วนหนึ่งไปทางฝั่งตะวันออกไปยังแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ออกอ่าวไทย ล่าสุดเริ่มผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำ 10 ทุ่งแล้ว
สำหรับในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ได้ปิดประตูระบายน้ำอาคารชลประทานตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันภาวะน้ำหนุน จึงไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำในคลองสายต่างๆ ส่วนที่จังหวัดปทุมธานี ควบคุมการระบายน้ำในคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ที่คลองพระยาบรรลือ โดยพิจารณาร่วมกับการระบายน้ำของพื้นที่ตอนล่าง เพื่อควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมเสริมกระสอบทรายบริเวณที่มีคันคลองต่ำ เพื่อป้องกันความเสียหาย รวมถึงควบคุมการระบายน้ำที่ไซฟอนพระธรรมราชาและประตูระบายน้ำพระธรรมราชา คลองระพีพัฒน์แยกใต้ด้วย อีกทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี 16 จุด
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือ ติดต่อที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน หมายเลข 1460.- สำนักข่าวไทย
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ย้ำให้นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขอุทกภัยประจำปีที่วางไว้ ยืนยันว่า ปีนี้ไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยปี 54 แน่นอน พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาทซึ่งเดือดร้อนจากน้ำล้นตลิ่ง ได้กำชับให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้มากที่สุด
นายเฉลิมชัยกล่าวต่อว่า ได้ประชุมร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัดนนทบุรีซึ่งได้รับรายงานว่า ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีพนังกั้นน้ำนั้น ยังมีพื้นที่ที่เว้นช่วง ไม่ได้ก่อสร้าง 10 จุด จึงจะผลักดันงบประมาณประจำปี 2567 -2568 กว่า 3 พันล้านบาทให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรเพื่อใช้ก่อสร้างตลอดแนวซึ่งจะแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว ไม่ให้ซ้ำรอยปี 2554
นอกจากนี้ยังแนะให้กรมชลประทานทำสัญลักษณ์แจ้งเตือนระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำสำคัญๆ ซึ่งมักใช้อ้างอิงสถานการณ์น้ำเช่น สถานี C. 2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ สถานี C. 29 อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยอาจทาสีแบ่งเป็น สีเขียว เหลือง แดงที่มาตรวัดระดับน้ำหรือติดธงแบบเดียวกับที่สถานีวัดน้ำ M. 7 อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ประชาชนจะได้ทราบว่า ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นนั้นอยู่ในภาวะที่ยังปลอดภัย เฝ้าระวัง หรืออันตราย เพราะการรายงานเพียงตัวเลขระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างเดียว หากประชาชนไม่เข้าใจจะสร้างความตื่นตระหนกได้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า การระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) แจ้งเตือนให้กรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานีเฝ้าระวัง โดยอาจมีระดับสูงขึ้นอีกระหว่าง 7-10 ตุลาคมนี้ ทางกรมชลประทานใช้ทุกระบบบริหารจัดการ ทั้งเร่งระบายตามทางน้ำหลัก โดยควบคุมการปิด – เปิด ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสมุทรปราการ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเลให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เร่งระบายผ่านสถานีสูบน้ำชายทะเลได้แก่ สถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร สถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ อีกทั้งยังผันน้ำส่วนหนึ่งไปทางฝั่งตะวันออกไปยังแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ออกอ่าวไทย ล่าสุดเริ่มผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำ 10 ทุ่งแล้ว
สำหรับในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีได้ปิดประตูระบายน้ำอาคารชลประทานตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันภาวะน้ำหนุน จึงไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำในคลองสายต่างๆ ส่วนที่จังหวัดปทุมธานีควบคุมการระบายน้ำในคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นที่คลองพระยาบรรลือ โดยพิจารณาร่วมกับการระบายน้ำของพื้นที่ตอนล่าง เพื่อควบคุมปริมาณน้ำ ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมเสริมกระสอบทรายบริเวณที่มีคันคลองต่ำเพื่อป้องกันความเสียหาย รวมถึงควบคุมการระบายน้ำที่ไซฟอนพระธรรมราชาและประตูระบายน้ำพระธรรมราชา คลองระพีพัฒน์แยกใต้ด้วย อีกทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี 16 จุด
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือติดต่อที่ โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน กรมชลประทานหมายเลข 1460.- สำนักข่าวไทย