เพชรบุรี 22 ก.ย.-นายกฯ กำชับ สทนช.วางแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ ครอบคลุมทุกมิติ ย้ำของบประมาณต้องทำได้จริง แก้ไขปัญหาตรงจุด เป็นประโยชน์ส่วนรวม คุ้มค่า
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี (เขื่อนเพชร) เพื่อรับฟังสถานการณ์น้ำและการระบายน้ำในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และการรายงานภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ การรับมือน้ำหลากและแผนแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กรมชลประธาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง ส.ส.เพชรบุรี ทั้ง 3 เขต เข้าร่วมเพื่อรับฟังนโยบายและเสนอแนะแนวทางต่าง ๆ ด้วย
จังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอยู่บ่อยครั้ง กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยควบคุมการระบายน้ำที่เขื่อนเพชรให้ไหลลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี ในอัตรา 150 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อลดผลกระทบด้านท้ายน้ำ ที่อำเภอเมือง น้ำส่วนที่เหลือจะถูกผันเข้าระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่างฯ ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งเป็นการบริหารจัดการลุ่มน้ำเพชรบุรีทั้งระบบ ที่ได้กำหนดแนวทางการเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีออกสู่ทะเลอ่าวไทย ด้วยการปรับปรุงคลองระบายน้ำ คลองส่งน้ำ และการขุดขยายคลอง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ตั้งใจมารับฟังข้อมูลและรับทราบปัญหาในแต่ละพื้นที่โดยตรง รวมทั้งให้ความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่ โดยมอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยกำหนดแผนแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม เพื่อความมั่นคงทางด้านน้ำในอนาคต โดยให้เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ และลดผลกระทบในช่วงฤดูน้ำหลากด้วย
นายกรัฐมนตรี กำชับเรื่องการเสนอของบประมาณจะต้องเป็นแผนงานที่ทำได้จริง แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด พร้อมทั้งวางแผนใช้งบประมาณแบบต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญในการใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งทุกภาคส่วน ทั้งส่วนราชการ ส.ส. และประชาชน ต้องร่วมมือกัน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้ส่วนราชการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร ในการปรับเปลี่ยนแนวคิด พฤติกรรมการทำการเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความต้องการของตลาด เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมการเกษตร สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าให้กับภาคการเกษตรมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย