เพชรบูรณ์ 5 ก.ย. – โซเชียลแห่แชร์คลิปเรียนออนไลน์ ครูต้องสอนหลายรอบเลยไม่อยากเขียนตัวอักษรทับบนหนังสือ เมื่อเด็กซักถามครูกลับพูดกระทบกระเทียบเปรียบเปรย ด้านผู้ปกครองเรียกร้องให้ครูปรับการสอนใหม่
นี่เป็นส่วนของหนึ่งของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่โพสต์ภาพและคลิปวิดีโอ ความยาว 1 นาที 22 วินาที ระบุว่า “ปัญหาของการเรียนออนไลน์ที่ไม่ได้เกิดจากตัวผู้เรียน”
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในการเรียนออนไลน์ของนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเด็กๆ พยายามเรียกร้องให้ครูเขียนหนังสือให้ชัดเจน เพื่อความเข้าใจ แต่กลับถูกครูปฏิเสธ เพราะต้องเก็บหนังสือไปสอนต่อเลยไม่อยากเขียนให้ชัดมาก จากนั้นครูยังบูลลี่ด้วยคำที่ว่า “ใครฉลาดดูก้อนเมฆด้านบนเลย” ทำให้เกิดคำถามเด็ก ป.1 เรียนออนไลน์ต้องทำได้ขนาดไหนถึงจะพอใจ ทำไมต้องใช้คำพูดแบบนี้ ต้องการอะไรกับเด็ก พร้อมระบุด้วยว่า ถ้าครูจะนำหนังสือไปใช้ต่อมีหลายวิธีให้แก้ไขหรือควรที่จะแก้ไขด้วยการเขียนบนกระดาษอื่นด้วยปากกาหรือดินสอที่เข้มกว่านี้ เด็ก ป.1 จะได้ลอกตามได้ เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนที่อ่านออกเขียนได้นะคะ บางคนอยู่กับปู่ย่า ตายาย ที่เขาก็ไม่ใช่ว่าจะสายตาดีกันทุกคน เด็กบางคนนั่งเรียนคนเดียวก็มี
เมื่อมีการมีแชร์ การโพสต์ต่อ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก เช่น ถ้อยคำของครู ว่าถ้าไม่ได้ดูเมฆสีเหลือง คืออะไร ถ้าไม่ดูคือโง่หรือ, ถ้าต้องใช้หนังสือต่อควรจะปริ้นใส่ A4 อย่ามาทำแบบนี้ ส่อนิสัยขี้เกียจของครู, เป็นถึงคุณครู แม่พิมพ์ของชาติ หน้าที่ครูคือสั่งสอนให้เด็กมีความรู้ เป็นคนดี แต่ถ้าจะสอนเด็กแบบนี้ นิสัยขี้เกียจมักง่ายแบบนี้ก็ไม่ต้องสอนหรอกค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่ของผู้ที่ออกมาวิจารณ์เป็นกลุ่มผู้ปกครอง
ด้านนายเอกรัฐ ผู้ปกครอง และเจ้าของเฟซบุ๊ก ที่เผยแพร่คลิปดังกล่าว ระบุว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในการเรียนของลูก โดยลูกของตนถึงกับกำมือและร้องไห้ เนื่องจากมองไม่เห็นและไม่เข้าใจครูที่สอน ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้กับคนเป็นพ่อแม่ ส่วนตัวเข้าใจสถานการณ์การเรียนออนไลน์ของครูว่าสอนยาก แต่อยากให้เข้าใจเด็กด้วยว่าเด็กก็เรียนยากกว่าเช่นกัน ด้วยวัยที่ยังเล็กและไม่เข้าใจ ทั้งนี้ ไม่ได้ต้องการเรียนกร้องให้ครูลาออก และอยากให้ขอโทษ และปรับปรุงการสอน เพื่อเด็ก
ด้านนายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้ สช. ในพื้นที่เพชรบูรณ์ติดตามว่าคลิปห้องเรียนออนไลน์ดังกล่าวเป็นโรงเรียนอะไร จากสถานการณ์ในคลิปเป็นการใช้แบบฝึกทักษะ ในการสอน ซึ่งปกติเด็กนักเรียนทุกคนจะมีแบบฝึกของตนเองคนละเล่มทุกคนอยู่แล้ว และในห้องเรียนที่โรงเรียน ตามปกติครูจะมีสื่อการสอนเข้ามาช่วยอธิบายเด็ก และอุปกรณ์ที่พร้อมมากกว่า เช่น กระดาน หรือไวท์บอร์ด เมื่อต้องเปลี่ยนมาสอนออนไลน์ ครูก็ต้องปรับตัวมาก คลิปดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการเรียนการสอนที่ต้องปรับวิธี ครูต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีอุปกรณ์ไม่เท่ากัน ดังนั้น ขนาดตัวหนังสือที่เด็กดูจากอุปกรณ์ต่างกันก็ไม่เท่ากัน ต้องหาวิธีที่จะถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ให้ชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้ หากการสอนออนไลน์ยังขาดเหลือต้องการให้ช่วยก็ขอให้โรงเรียนแจ้ง สช. เพื่อให้ระบบการเรียนการสอนออนไลน์มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น.- สำนักข่าวไทย