ปทุมธานี 2 มี.ค. – จังหวัดปทุมธานี สั่งปิดโรงงานชำแหละหมูเจ๊หยก หลังเป็นแหล่งคลัสเตอร์โควิด-19 ใหม่ สกัดการแพร่เชื้อ สอบสวนโรคพบผู้ป่วยปกปิดข้อมูล
ศูนย์อำนวยการป้องกันและควบคุมโรค ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี, นายแพทย์รังสรรค์ บุตรชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และทีมบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลประชาธิปัตย์ ได้เข้าร่วมประชุมความคืบหน้าการดำเนินการตรวจเชื้อโควิด-19 ของประชาชนชาวจังหวัดปทุมธานี
จังหวัดปทุมธานี มีคำสั่งที่ 2134/2464 คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปทุมธานีมีความเห็นสั่งปิดโรงงาน อาคาร สำนักงาน และพื้นที่พักคนงานโดยรอบ สถานที่ประกอบการของบริษัท ปรีชาอินเตอร์ฟู้ด หรือเจ๊หยก ภายในซอยพหลโยธิน 127 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และสถานที่พักซากสัตว์ ซอยรังสิต-ปทุมธานี 27 เป็นเวลา 14 วัน และศูนย์ปฏิบัติการณ์ควบคุมโรคได้ฉีดพ่นฆ่าเชื้อ ส่วนบรรยากาศที่หน้าโรงงานประตูรั้วปิดล็อก มีป้ายกระดาษเขียนว่า ปิดปรับปรุงชั่วคราว
ด้าน นพ.รังสรรค์ บุตรชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประชาธิปัตย์ บอกว่า ที่ผ่านมาประชาชนให้ความร่วมมือเข้ามาตรวจคัดกรองโควิด-19 เป็นอย่างดี โดยตรวจไปแล้วกว่า 20,000 คน ผลบวกประมาณ 500 คน ปริมาณผลบวกลดลงเรื่อยๆ เบื้องต้นมีคลัสเตอร์หนึ่งที่เกิดขึ้นคือ โรงงานชำแหละหมูเจ๊หยก แต่อยู่ในวงแคบ และสามารถควบคุมได้
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกระแสข่าวการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มวีไอพีในจังหวัดเชียงใหม่ว่า เรื่องนี้ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งให้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง มีผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุข ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบโรค เป็นกรรมการสอบ
การฉีดวัคซีนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ ทั้งการฉีดให้บุคลากรหน้าด่านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและป้องกันโรค ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ทั้งระดับสัญญาบัตร และระดับนายสิบด้วย ซึ่งเป้าหมายต้องฉีดให้ได้ 1,450 คน ซึ่งในวันแรกของการนำร่องฉีดวัคซีน เมื่อวันที่ 28 ก.พ. มีการฉีดจริงแค่ 140 คน จากที่ลงรายชื่อไว้ 373 คน เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 73 คน เจ้าหน้าที่ 67 คน แต่หลังจากเริ่มมีความมั่นใจในการรับวัคซีนมากขึ้น ทำให้มีผู้สมัครใจเข้ารับวัคซีนในวันถัดไป 1 มี.ค. มากกว่าวันแรก
ช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ หลังเปิดลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิในการฉีดวัคซีน มีบุคลากรทางการแพทย์ลงทะเบียนต้องการฉีดวัคซีนจำนวน 11,000 คน
นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 เดินทางมาฉีดวัดซีนป้องกันโรคโควิด-19 เป็นคนแรก โดยมี นพ.รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี และ นพ.มณเฑียน เพ็งสมบัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ร่วมฉีดวัคซีนครั้งนี้ด้วย ต่อมาในช่วงสาย นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ได้เดินทางมาโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เพื่อรับการฉีดวัคซีนโควิด-19
เบื้องต้นทางจังหวัดนนทบุรีได้รับจัดสรรวัคซีน 3,000 โดส แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1,500 โดส ฉีดให้บุคลากรด่านหน้าของเจ้าหน้าที่ส่วนกลางของกระทรวงสาธารณสุข สถาบันบำราศนราดูร สถาบันโรคทรวงอก สถาบันสิรินธร สถาบันทันตกรรม โดยฉีดไปแล้วเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่วนอีก 1,500 โดส วันนี้มีการฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ที่เหลือรอจัดสรรเเล้วจะกระจายตามกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ต่อไป จากนั้นจะขยายไปตามโรงพยาบาลชุมชนตามอำเภอต่างๆ
ด้าน นพ.โอภาส กล่าวถึงยอดการรับวัคซีนโควิด -19 ว่าหลังเดินหน้าทดสอบระบบการรับวัคซีนโควิด-19 ไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ. และมีการกระจายวัคซีนไปใน 13 จังหวัด เพื่อพร้อมฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามเป้า 116,520 โดส เบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-1 มี.ค. มีผู้รับวัคซีนไปแล้ว 3,021 คน แบ่งเป็นการฉีดในบุคลากรทางการแพทย์ และ อสม.2,781 คน เจ้าหน้าที่อื่นที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 133 คน ประชาชนที่ป่วยโรคเรื้อรัง 21 คน และประชาชนในพื้นที่ 86 คน และยังพบว่าในจำนวนผู้รับวัคซีนมีอาการไม่พึงประสงค์ 5 คน มีอาการอาเจียน คลื่นไส้ และบางคน มีอาการปวดบวมแดง
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 42 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสม 26,073 คน หายป่วยแล้ว 25,420 คน ยังรักษาในโรงพยาบาล 569 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน รวมยอดเสียชีวิตสะสม 84 ราย
สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 42 คนนั้น แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 39 คน มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 35 คน และจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 4 คน และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 3 คน มาจากประเทศสหรัฐอาหรับเรมิเรตส์ สาธารณรัฐเซอร์เบีย และเยอรมนี
ในวันนี้ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้แสดงตัวอย่างหนังสือรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยบอกว่าในวันที่ 8 มี.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยมีวาระการหารือถึงการออกเอกสารรับรองหลังรับวัคซีนโควิด-19 ที่ออกโดยกรมควบคุมโรค ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยสามารถใช้แนบไปกับพาสปอร์ตเวลาเดินทาง สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าประเทศไทยพร้อมเปิดประเทศแล้ว
ขณะที่ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีออกมาปฏิเสธกระแสข่าวการกักตุนวัคซีนโควิด-19 ไว้ให้สำหรับบุคคลระดับวีไอพี ภายหลังกระจายไปในแต่ละจังหวัดแล้ว โดยย้ำว่าไม่เคยสั่งกักตุนวัคซีนให้วีไอพี ย้ำแต่ละจังหวัดมีกรรมการจัดสรรให้เป็นธรรม โปร่งใส ตามที่ได้กำหนดไว้ คือการดูแลประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ควบคู่ไปกับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว
วันนี้คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ 6,387,285,900 บาท สำหรับโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับบริการประชากรในประเทศไทยเพิ่มเติมจำนวน 35 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุมเป้าหมายการฉีดให้ประชากรไทยอย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี 2564
โดยโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับบริษัท AstraZeneca เพิ่มเติมจำนวน 35 ล้านโดส วงเงินรวมทั้งสิ้นจำนวน 5,673.67 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าวัคซีนโควิด-19 จำนวน 5,302.50 ล้านบาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 371.17 ล้านบาท
สำหรับมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการวัคซีนเพื่อรองรับการฉีดวัคซีน จำนวน 713.61 ล้านบาท สำหรับประชากรกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานช่วงเดือน มิ.ย.-ธ.ค. 2564
โดยแผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เดือน มี.ค.-พ.ค. 2564 จำนวน 2 ล้านโดส ใน 18 จังหวัด และระยะที่ 2 เดือน มิ.ย.-ธ.ค. 2564 จำนวน 61 ล้านโดส ในทุกจังหวัด รวมจำนวนวัคซีนที่ให้กลุ่มเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 63 ล้านโดส.-สำนักข่าวไทย