กรุงเทพฯ 28 ก.พ. – ผู้ว่าฯ กทม. สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน ช่วงวันที่ 2-4 มี.ค.นี้ หลังกรมอุตุฯ แจ้งเตือนประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว
วันนี้ (28 ก.พ.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศ เรื่อง การเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2564 ว่า ประเทศไทยได้สิ้นสุดฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 โดยในตอนกลางวันพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน อุณหภูมิสูงสุดตั้งแต่ 35 องศาเซลเซียสขึ้นไป ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงใต้ หรือลมฝ่ายใต้พัดปกคลุมแทน ซึ่งเป็นการเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศไทย และคาดว่าฤดูร้อนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเตือนภัยลักษณะอากาศ “พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 1-4 มีนาคม 2564)” ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ระบุช่วงวันที่ 1-4 มีนาคม 2564 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงฟ้าผ่า โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จะมีผลกระทบในวันที่ 1-3 มีนาคม ส่วนภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเริ่มได้รับผลกระทบในวันที่ 2-4 มีนาคม 2564
ในส่วนของกรุงเทพมหานครนั้น ได้มีการสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยในส่วนของสำนักอนามัย ดำเนินการส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำแก่ประชาชนเกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่มีอาชีพทำงานกลางแดด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากภาวะอากาศร้อน เช่น อาการเพลียแดด โรคลมร้อน หรือฮีทสโตรก รวมถึงการสังเกตอาการและวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
สำนักการระบายน้ำ ดำเนินการเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ฝนจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งการติดตามสถานการณ์ฝน และแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ การเตรียมพร้อมระบบการระบายน้ำ การจัดเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตรวจสอบแก้ไขจุดที่มีปัญหาน้ำท่วมในช่วงฝนตก การประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ฯลฯ
ในส่วนของสำนักการโยธา และสำนักสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินการการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณาและต้นไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยประสานงานกับสำนักงานเขตพื้นที่ทั้ง 50 เขต ให้มีความพร้อมของเจ้าหน้าที่หน่วย BEST (Bangkok metropolitan Emergency Service Team) และอุปกรณ์ เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในช่วงที่มีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงจากพายุฤดูร้อนต่อไป. – สำนักข่าวไทย