ทำเนียบรัฐบาล 23 ก.พ.- ศบค.ผ่อนคลายมาตรการพื้นที่เฝ้าระวังสูงเปิดร้านอาหาร-สถานบันเทิงได้ถึงเที่ยงคืน ส่วนพื้นที่ควบคุมให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้ถึง 5 ทุ่ม แต่ยังคุมเข้ม จ.สมุทรสาคร ส่วนแผนกระจายวัคซีน “กลุ่มแรก” ด่านหน้าเสี่ยงโควิด
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่วานนี้ (22 ก.พ.) ว่า ที่ประชุม ศบค. ได้กำหนดพื้นที่มาตรการผ่อนคลายกิจการกิจกรรม โดยพื้นที่เฝ้าระวัง 54 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง 14 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ระยอง ชุมพร สงขลา ยะลา และนราธิวาส พื้นที่ควบคุม 8 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ตาก ราชบุรี สมุทรสงคราม และนครปฐม และพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 1 จังหวัด สมุทรสาคร
กิจการกิจกรรมที่ยังไม่สามารถทำได้ใน จ.สมุทรสาคร คือ ไม่อนุญาตให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง การเรียนการสอนยังต้องเป็นแบบออนไลน์ ส่วนพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 8 จังหวัด อนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกฮอล์และเล่นดนตรีสดในร้านได้ แต่ให้เปิดไม่เกิน 23.00 น. สำหรับพื้นที่ควบคุมสูง (สีเหลือง) 14 จังหวัด ร้านอาหารให้เปิดไม่เกิน 24.00 น. และในพื้นที่เฝ้าระวัง 54 จังหวัด ร้านอาหารเปิดได้ตามปกติ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข
“หลายคนถามว่า ผ่อนคลายแบบนี้ก็สามารถดื่มได้แล้วในคืนวันที่ 22 ก.พ. จะได้ปลดปล่อย ต้องย้ำว่า เมื่อ ศบค.มีการกำหนดกรอบ แต่ละจังหวัดสามารถที่จะผ่อนคลายได้ หรือจะคุมเข้มกว่าที่ ศบค.ประกาศได้ ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อแต่ละจังหวัดจะพิจารณาจึงขอให้ประชาชนแต่ละพื้นที่ติดตามประกาศ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 มี 3 เป้าหมาย 1.ลดอัตราการป่วยและตาย กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง ที่จะป่วยรุนแรงและเสียชีวิตหากติดเชื้อ เช่น อายุมากว่า 60 ปี และมีโรคประจำตัวเรื้อรัง 2. เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ กลุ่มเป้าหมาย คือบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน และเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมโรคโควิด-19 และผู้สัมผัสผู้ป่วยในงาน และ3.เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนทั่วไป แรงงานในภาคธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม
ทั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ระยะ เพราะหลายประเทศทั่วโลกต้องการวัคซีน ซึ่งระยะที่ 1 เมื่อมีวัคซีนปริมาณจำกัด กลุ่มเป้าหมาย 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน 2.บุคคลที่มีโรคประจำตัว 3.ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 4.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย
ระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีนมากขึ้นและเพียงพอกลุ่มเป้าหมายจะขยายมากขึ้น ก็สามารถกระจายให้ประชาชนทั่วไป นักการทูต เจ้าหน้าที่ระหว่างประเทศ และแรงงานในอุตสาหกรรม
นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวว่า ศบค.ให้ความเห็นชอบแผนกระจายวัคซีน 2 แสนโดสแรก โดยกระจายใน 13 จังหวัด ประกอบด้วย 1. สมุทรสาคร จำนวน 70,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 8,000 โดส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 6,000 โดส ผู้ที่มีโรคประจำตัว 46,000 โดส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 10,000 โดส
2.กรุงเทพฯ(ฝั่งตะวันตก) 66,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 12,400 โดส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 1,600 โดส ผู้ที่มีโรคประจำตัว 47,000 โดส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 5,000 โดส
3.ปทุมธานี 8,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 3,000 โดส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 2,000 โดส ผู้ที่มีโรคประจำตัว 2,000 โดส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1,000 โดส
4.นนทบุรี 6,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 2,000 โดส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 1,000 โดส ผู้ที่มีโรคประจำตัว 2,000 โดส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1,000 โดส
5.สมุทรปราการ 6,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 2,000 โดส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 1,000 โดส ผู้ที่มีโรคประจำตัว 2,000 โดส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1,000 โดส
6.ตาก (อ.แม่สอด) 5,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 3,000 โดส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 2,000 โดส
7.นครปฐม 3,500 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 2,500 โดส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 1,000 โดส
8.สมุทรสงคราม 2,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 1,500 โดส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 500 โดส
9.ราชบุรี 2,500 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 2,000 โดส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 500 โดส
10.ชลบุรี 4,700 โดส 11.ภูเก็ต 4,000 โดส 12.อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 2,500 โดส และ13จ.เชียงใหม่ 3,500 โดส
สำหรับ 4 จังหวัดเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม คือ ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ จะมอบให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาจัดสรรจำนวนวัคซีนให้แต่ละกลุ่มเป้าหมายตามสถานการณ์และบริบทของพื้นที่ ส่วนอีก 16,300 โดส สำหรับควบคุมการระบาดและฉีดให้บุคลากรโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19
ขณะที่การวางแผนให้บริการวัคซีนในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 1000 แห่ง จะให้บริการได้ 500 โดสต่อวัน ในระยะเวลา 20 วันต่อเดือน เฉลี่ย 10 ล้านโดส
นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงการผ่อนคลายให้มีผู้เข้าชมในกิจกรรมต่างๆ อนุญาตให้มีผู้เข้าชมฟุตบอลไทยลีก 50% ของความจุสนาม, วอลเลย์บอลไทยแลนด์ลีก เข้าชมได้ 30% ของความจุสนาม, จักรยานชิงแชมป์ประเทศ และจักรยานชิงแชมป์นานาชาติ ให้คณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดกำหนดผู้ชมได้ ขณะที่การประกวดมิสแกรนด์ฯ เข้าชมได้ 30% ของความจุ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ Transit Flight แวะต่อเที่ยวบินได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยต้องตรวจ fit to fly โควิดฟรี ตรวจเอกสารต้นทาง แต่ห้ามออกไปร้านค้า และอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไม่เกิน 12 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน ททท.ผลักดันมาตรการกักตัวเองบนเรือยอร์ช 14 วัน หรือ “ยอร์ช ควอรันทีน” โดยเรือศรชลจะเป็นหน่วยงานควบคุมกำกับ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตามคำสั่ง ศบค.ชุดใหญ่ มาตรการผ่อนคลายเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.64 แต่ขอให้ประชาชนตรวจสอบคำสั่งของบางจังหวัดที่อาจเข้มงวดมากกว่ามาตรการหลัก ส่วนการแถลงสถานการณ์ COVID-19 จะงดแถลงข่าววันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดมาฆบูชา (26 ก.พ.) รวมทั้งสัปดาห์หน้าจะเริ่มแถลงสถานการณ์เฉพาะวันจันทร์ พุธ ศุกร์.-สำนักข่าวไทย