ทำเนียบรัฐบาล 16 ม.ค. – โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 พบผู้ติดเชื้อใหม่ 230 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ยอมรับสถานการณ์ติดเชื้อใน กทม.ยังน่าห่วง แนวโน้มทรงตัว เชื่อพ้นระยะฟักตัว 14 วัน น่าจะดีขึ้น วอนผู้สัมผัสหรือมีความเสี่ยงสูง ต้องอยู่บ้านและรีบไปตรวจหาเชื้อทันที
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วันนี้ (16 ม.ค.) ว่า มีผู้ติดเชื้อใหม่ 230 ราย ติดเชื้อในประเทศ 209 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 21 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 11,680 ราย หายแล้ว 8,906 ราย ยอดเสียชีวิตใหม่ 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 70 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยคงที่รวม 60 จังหวัด
สำหรับผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นชายวัย 67 ปี ภูมิลำเนาอยู่ กทม. ในวันที่ 21 และ 23 ธ.ค.63 มีประวัติไปสถานบันเทิง จากนั้น 24-27 ธ.ค.63 มีอาการไข้ ไอ และน้ำมูก ต่อมา 29 ธ.ค.63 พบว่า พนักงานในสถานบันเทิงติดเชื้อโควิด-19 จึงไปตรวจหาเชื้อ กระทั่งผลตรวจออกมาว่าติดเชื้อ ในวันที่ 30 ธ.ค.63 จึงเข้ารักษาในโรงพยาบาล จากนั้น 14 ม.ค.64 มีอาการปอดอักเสบรุนแรง มีโรคแทรกซ้อน คือ ไตวายเฉียบพลัน และเสียชีวิตในวันดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ม.ค.นี้ พบผู้ป่วยใหม่ในการระบาดระลอกใหม่ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 2,674 ราย เหลือ 1,627 ราย ในสัปดาห์นี้ และเป็นที่น่าสังเกตว่า คนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศและเข้าพักใน State Quarantine ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในวันนี้ คือ อังกฤษ จำนวน 7 ราย ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่า เชื้อโควิดของอังกฤษจะมีความรุนแรงตามที่เกิดขึ้นในต่างประเทศหรือไม่ จึงจำเป็นจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
เมื่อถามว่า สถานการณ์ใน กทม.ที่ยังพบผู้ติดเชื้อรายวัน และใน กทม.จะมีมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ ยอมรับว่า ได้มีการพูดคุยกันในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก และยังมีความกังวล เนื่องจากยังมีเคสใน กทม. โดยพีคสูงสุดในวันที่ 7 ม.ค.64 พบผู้ติดเชื้อ 49 ราย และค่อยๆ ลดลงมา แต่ก็ยังเป็นตัวเลข 2 หลักมาตลอด จากกราฟยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ คาดว่าเมื่อครบระยะเวลา 14 วัน แนวโน้มน่าจะดีขึ้น แต่ตัวเลข 2 หลัก ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ ที่น่าห่วงคือ ผู้ที่มีการสัมผัสและมีประวัติเสี่ยงสูง ที่บางครั้งตามและแจ้งเตือน เขาก็ไม่ว่างมา อาการไม่ออก แต่เดินทางไปทั่วทุกที่ ปัญหาคือ จะทำอย่างไรให้คนมีความเสี่ยงสูง อยู่กับที่และรีบไปตรวจหาเชื้อ แม้ว่าตรวจครั้งแรกยังไม่เจอ ก็ขอให้ไปตรวจซ้ำในช่วงระยะเวลา 5-7 วัน ระหว่างนั้นต้องไม่เดินทางไปไหน และแยกตัวออกจากคนในครอบครัว. – สำนักข่าวไทย