กรุงเทพฯ 16 พ.ย. – รมว.คลัง ยอมรับจีดีพีไตรมาส 3 ของสภาพัฒน์ ดีเกินคาด พร้อมขยายคนละครึ่งเฟส 3 เพื่อหนุนกำลังซื้อดันเศรษฐกิจฐานราก เชื่อมั่นปี 64 ขยายตัวเป็นบวก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ติดลบร้อยละ 6.4 และทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 นับว่าดีเกินคาด เพราะไทยได้รับผลกระทบจากโควิดหลายภาคส่วน แต่แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ค่อนข้างดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทางสภาพัฒน์จึงได้ปรับประมาณการจีดีพีของปี 2563 ดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิม สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และกระทรวงการคลังมั่นใจเศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัวเป็นบวกอย่างแน่นอน
นายอาคม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อศึกษาช่องทางให้รัฐบาลและกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2563 และมอบให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ศึกษาความเป็นไปได้ หากจะต้องชำระเงินกู้ต่างประเทศในช่วงเงินบาทแข็งค่าเทียบกับค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเพิ่มว่าคุ้มค่าหรือไม่ และประเมินอีกหลายปัจจัยซึ่งกำลังดีขึ้น ส่วนกรณีเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง นักลงทุนจึงได้นำเงินดอลลาร์สหรัฐเข้ามาหาผลตอบแทนในไทยมากขึ้นต่อเนื่อง กระทรวงการคลังได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลอดเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหา และลดปัญหาการเก็งกำไรค่าเงินบาทให้มากที่สุด
สำหรับการกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ยังอยู่ในกรอบของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อกระจายแห่งเงินกู้เงินจากต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันภาคเอกชนมีความต้องการเงินกู้จากแหล่งเงินภายในประเทศ หากรัฐบาลเน้นกู้เงินภายในประเทศอย่างเดียวจะทำให้ดอกเบี้ยและต้นทุนกู้เงินของเอกชนสูงขึ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภาเกี่ยวกับการดำเนินโครงการคนละครึ่ง ยอมรับว่าประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ ทั้งประชาชนผู้ลงทะเบียน และร้านค้ารายย่อย เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก กระทรวงการคลังจึงรายงานให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาขยายมาตรการเฟส 2 หากสร้างประโยชน์ต่อประเทศ กระทรวงการคลังพร้อมเสนอมาตรการเฟส 3 เพิ่มเติม เพื่อให้เม็ดเงินกระจายสู่เศรษฐกิจฐานราก
ทั้งนี้ ยอมรับว่าโควิดทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวหายไป ส่งผลต่อการเก็บรายได้ของรัฐบาลไม่ตรงตามเป้าหมาย จึงหารือกับหน่วยงานจัดเก็บภาษีหาทางเพิ่มศักยภาพการหารายได้ เพื่อขยายฐานภาษีให้ครอบคลุม เช่น การเพิ่มขีดการแข่งขัน การอำนวยความสะดวก การลดภาระต้นทุนให้กับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต วงการแพทย์และสาธารณสุข และอุตสาหกรรมการบริการสุขภาพ.-สำนักข่าวไทย