กทม. 27 ต.ค.-ผู้ว่าฯกทม.เผยความพร้อมรับมือฝุ่น PM 2.5 ทั้งการติดตั้งสถานีตรวจวัดค่าฝุ่น 50เขต–ห้ามรถยนต์ 6 ล้อขึ้นไปวิ่งเข้าพื้นที่ – ปิด รร.ตามเหมาะสม-เหลื่อมเวลาทำงาน-ห้ามก่อสร้างบริเวณนอกอาคาร-ปลูกต้นไม้ช่วยดูดซับฝุ่นฯลฯ คาด ธ.ค.63-ก.พ.64 เป็นช่วงหนักสุดของฝุ่นจิ๋ว
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ กทม. ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ กทม.กังวล โดยเฉพาะในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ปี 64 ที่สภาพอากาศในพื้นที่จะปิด เนื่องจากความกดอากาศสูงจะทำให้สภาพอากาศใน กทม.ปิด ลมนิ่งสงบ ทำให้ฝุ่นไม่สามารถลอยตัวออกไปได้ โดย กทม.ได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมล่วงหน้ากับกรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย กรมอุตุนิยมวิทยา กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบังคับการตำรวจจราจร และกรมการขนส่งทางบก
ในขั้นแรก กทม.ได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดค่าฝุ่นละอองครบทั้ง 50เขตแล้ว จะทำให้ทราบข้อมูลฝุ่นขนาดเล็กได้อย่างทันท่วงที เพื่อประชาชนจะได้รับมือเตรียมตัวได้ และอยู่ระหว่างการติดตั้งบริเวณสวนสาธารณะขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก 20 แห่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางเดือนพฤศจิกายน เพื่อให้ประชาชนที่ไปใช้พื้นที่ออกกำลังกายได้รับทราบข้อมูลคุณภาพอากาศภายในสวนสาธารณะว่าสามารถออกกำลังกายได้หรือไม่
ขณะเดียวกัน กทม.ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจจราจร(บก.จร.) จะออกคำสั่งห้ามรถยนต์ตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปวิ่งเข้าพื้นที่ กทม.ในช่วงเวลา 06.00– 21.00 น.ตั้งแต่วันที่ 1ธันวาคม 2563 ถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อลดมลพิษจากควันรถที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โดยเข้าใจความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ แต่ข้อมูลที่เก็บในปีที่แล้ว การออกมาตรการดังกล่าว ให้รถ 6 ล้อขึ้นไปวิ่งเฉพาะในช่วงเวลา 21.00-05.00 น.ของอีกวัน ช่วยให้ค่าฝุ่นละอองใน กทม.ลดลงได้ อย่างน้อยร้อยละ 39
นอกจากนี้จะขอความร่วมมือสถานศึกษาให้งดจัดกิจกรรมในที่โล่งแจ้งในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ถึงกุมภาพันธ์ 2564 เช่นเดียวกัน หากสถานการณ์วิกฤติและค่าฝุ่นสูงต่อเนื่องเกิน 3 วัน จะพิจารณาให้ปิดโรงเรียนตามความเหมาะสมซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานในสังกัด กทม.จัดกะเวลาทำงานใหม่ หรือการเหลื่อมเวลา เพื่อลดการใช้ยานพาหนะ และรถที่ใช้ในราชการสั กัด กทม.ต้องตรวจค่าการเผาไหม้ให้ได้ตามค่ามาตรฐานไม่สร้างมลพิษในอากาศ คันไหนไม่ผ่านการตรวจจะไม่สามารถนำออกมาวิ่งได้ รวมถึงอาจให้โรงเรียนต่างๆในพื้นที่กรุงเทพฯจัดเวลาเรียนใหม่ด้วย ลดการเดินทางของนักเรียนและผู้ปกครอง
สำหรับการก่อสร้าง เช่น อาคาร และรถไฟฟ้า หากในช่วงวิกฤติที่มีปริมาณฝุ่นสูงจะห้ามไม่ให้มีการก่อสร้างบริเวณนอกอาคารเพื่อป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย แต่ในพื้นที่ปิดภายในอาคารยังสามารถทำได้
ส่วนมาตรการที่ทำตลอดในรอบปีที่ผ่านมาก็จะทำต่อเนื่องเช่น การปลูกไม้ 2 ฝั่งถนนที่สร้างใหม่และปลูกต้นไม้ช่วยดูดซับฝุ่นบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าในเส้นทางต่างๆให้มากที่สุด การพ่นละอองน้ำในอากาศ การฉีดล้างทำความสะอาดถนนและใบไม้ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย