สำนักข่าวไทย 28 เม.ย. – เฟซบุ๊กแฟนเพจไทยคู่ฟ้า แจ้งความคืบหน้าล่าสุดมาตรการเยียวยา 5,000 บาท มีผู้ได้รับเงินเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์ Covid-19 ในช่วงวันที่ 8 – 24 เม.ย. 63 แล้วจำนวน 4,900,000 ราย คิดเป็นมูลค่า 25,000 ล้านบาท โดยในช่วงวันที่ 27 – 29 เม.ย. 63 กระทรวงการคลังจะทยอยโอนเงินให้ผู้ได้รับสิทธิอีก 2,600,000 ราย ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 8 – 29 เม.ย. 63 จะมีผู้ได้รับเงินเยียวยารวม 7,500,000 ราย คิดเป็นเงิน 38,000 ล้านบาท
ปัจจุบันมีผู้ขอยกเลิกการลงทะเบียน 940,000 ราย ขอทบทวนสิทธิ 3,400,000 ราย ขอสละสิทธิ 1,675 ราย และมีกลุ่มขอข้อมูลเพิ่มเติมได้เข้ามากรอกแบบสอบถามออนไลน์เรียบร้อยแล้ว ยังคงเหลือผู้ไม่มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีก 1,100,000 ราย จึงขอให้เร่งเข้ามากรอกแบบสอบถาม เพื่อประโยชน์ในการรับสิทธิจากมาตรการ
สำหรับผู้ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองและขอทบทวนสิทธิ กระทรวงการคลังได้มอบหมาย “ผู้พิทักษ์สิทธิ” จำนวนกว่า 23,000 คน สับเปลี่ยนลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติงานทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่ยืนยันตัวตนและตรวจสอบการประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ โดยร่วมเดินทางไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย มีขั้นตอนการปฏิบัติงาน คือ
1. ผู้พิทักษ์สิทธิจะโทรศัพท์นัดหมายผู้ทบทวนสิทธิล่วงหน้าทุกราย
2. เมื่อลงพื้นที่ไปพบผู้ทบทวนสิทธิ ผู้พิทักษ์สิทธิจะมีการแสดงตนอย่างชัดเจน
3. จะใช้แอพพลิเคชัน “ผู้พิทักษ์สิทธิ” ที่ติดตั้งในโทรศัพท์มือถือของเจ้าหน้าที่ เป็นเครื่องมือขอยืนยันตัวตนของผู้ทบทวนสิทธิ และถ่ายภาพหลักฐานต่างทุกขั้นตอน
4. ข้อมูลที่สำรวจและจัดเก็บจะถูกส่งตรงจากแอปพลิเคชันกลับมายังฐานข้อมูลของกระทรวงการคลัง เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
และเมื่อเจ้าหน้าที่ไปพบท่าน (ผู้ขอทบทวนสิทธิ) ขอให้เตรียมบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง รวมถึงเอกสารหลักฐาน เช่น ภาพถ่ายการประกอบอาชีพตามอาชีพที่ได้ลงทะเบียนไว้ ใบอนุญาตประกอบอาชีพ ภาพถ่ายกับสถานประกอบการ เป็นต้น
ย้ำกันไว้ตรงนี้…ผู้พิทักษ์สิทธิมีหน้าที่ยืนยันตัวตนและตรวจสอบการประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ แต่ไม่มีอำนาจพิจารณาคุณสมบัติว่าท่านจะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่ และขอให้ระมัดระวังการแอบอ้างหลอกลวง หากท่านไม่ได้ยื่นขอทบทวนสิทธิ กระทรวงการคลังจะไม่มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปนัดหมายพบปะกับท่านแต่อย่างใด
ผู้มีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Call Center ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-111-1144
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3421-30
