ชลบุรี 24 ส.ค.- ผู้ว่าแบงก์ชาติ ยันไม่ปิดกั้นปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย หากเสถียรภาพทางการเงินตึงตัวมากเกินไป พร้อมเดินหน้าทำงานร่วมกับรัฐบาล ปัดตอบลดเงินเข้า FIDF
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดเมื่อ 21 สิงหาคม 2567 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี ว่า การพิจารณาของ กนง. มาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ศักยภาพ แต่มีสัญญาณความเสี่ยงด้านต่ำ ตัวเลขการขยายตัว เศรษฐกิจ ไตรมาส 2 ปี 2567 การลงทุนของภาคเอกชนที่ต่ำกว่าคาดการณ์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เริ่มกลับเข้าสู่กรอบล่าง 1-3 % และยังไม่เห็นสัญญาณเกิดภาวะเงินฝืด แต่สิ่งที่กังวล คือเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน โดยเฉพาะกรณีที่สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจริง แต่ยังไม่ถึงขั้นเกิดภาวะตึงตัวในระบบการเงิน ซึ่ง ธปท. จะติดตามพัฒนาการในระยะต่อไป แต่ก็พร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้มีความเหมาะสมตามสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป หากมีความตึงตัวมากกว่าที่ควรจะเป็น
“ขอย้ำว่า ในการประชุม กนง.ทุกครั้ง เพื่อพิจารณาดอกเบี้ยนโยบาย จะพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งถ้าแนวโน้มออกมาใกล้เคียงกับที่เราประเมินไว้ ก็มองว่าความจำเป็นที่จะต้องปรับลดดอกเบี้ยอาจจะมี แต่ถ้าแนวโน้มปรับเปลี่ยนไปเราก็ไม่ได้ปิดกั้นในการปรับเปลี่ยนนโยบาย ซึ่งในการแถลงล่าสุดของ กนง. จะเห็นว่าคณะกรรมการแสดงความห่วงใยเรื่องเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น” ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว
ผู้ว่า ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ธปท. พร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาล และกระทรวงการคลัง มีหลายคณะที่ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด แต่ไม่ได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะ แต่คนไปให้ความสนใจกับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เช่น นโยบายเรื่องของการปรับลดดอกเบี้ย มาจากการที่สวมหมวกคนละใบ ธปท. ต้องดูแลเรื่องเสถียรภาพ ส่วนกระทรวงการคลัง ดูแลเรื่องอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำงานร่วมกันไม่ได้
ส่วนกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐนั้น มองว่าเฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ไม่ได้นอกเหนือจากที่คาดการณ์ไว้ ส่วนจะเป็นแรงกดดันให้ไทยลดดอกเบี้ยตามหรือไม่ ผู้ว่า ธปท. ย้ำว่านโยบายการเงินของไทย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเป็นหลัก แต่ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่กระทบ เช่น นโยบายการเงินของประเทศหลัก ที่กระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยน
ส่วนกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนวทางการพิจารณาลดเงินจ่ายเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF และเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก รวมอยู่ที่ 0.46-0.47% ลงครึ่งหนึ่ง เหลือ 0.23% ผู้ว่า ธปท. ระบุยังเร็วไปที่จะให้คำตอบ
ขณะที่ นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ปัจจุบันการที่สถาบันการเงินนำส่งเงินเข้ากองทุน FIDF 0.46% ก็เพื่อชำระดอกเบี้ยประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี จากยอดเงินต้นที่มีการออกพันธบัตรรัฐบาล 5.8 แสนล้านบาท และจะลดลงเหลือ 5.5 แสนล้านบาทในเดือนกันยายนนี้ จากการนำส่งเงินเข้ากองทุนของสถาบันการเงินในรอบล่าสุด ซึ่งหากมีการลดเงินนำส่งลงไปครึ่งหนึ่ง จะทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 5 พันล้านบาทต่อปี และทำให้ยอดหนี้คงค้างหมดช้าลง .-516-สำนักข่าวไทย