ลำปาง 9 มิ.ย.- นายกฯ น้อมรับคำติ บอกน่าคิดผลสำรวจนิด้าโพลย้อนแย้งกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ มั่นใจไตรมาส 4 เศรษฐกิจดีขึ้น มอง “ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์ไม่ได้ปลุกปั่น แต่หวังดีกับบ้านเมือง ไม่หวั่นกระทบเสถียรภาพรัฐบาล
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชนที่ระบุว่า 9 เดือน รัฐบาลเศรษฐา พบส่วนใหญ่ยังไม่พอใจการทำงาน มองการบริหารจัดการล่าช้าและงานไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ว่า ตนว่าตรงนี้ก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน เพราะสำนักงานสถิติแห่งชาติก็เพิ่งมีผลสำรวจออกมา ว่าจริงๆ แล้วตัวเลขมันก็ออกมาใช้ได้ ขณะที่นิด้าโพลก็อีกหนึ่งอาทิตย์ให้หลัง ซึ่งย้อนแย้งกัน แต่ตนก็ยินดีรับฟัง เพราะพูดมาตลอดว่า เสียงที่เราควรจะได้ยินไม่ใช่เสียงชมอย่างเดียว และก็ควรเป็นเสียงที่มีอคติด้วย เราก็พยายามไปดูว่า วิธีการที่เราทำสถิติ เก็บตัวเลขมาเป็นอย่างไร ครบทุกหมวดทุกเหล่า ถามเกษตรกรหรือเปล่า แต่สมมติว่ายังไม่พอใจ ตนคิดว่าทุกคนที่ยืนอยู่ตรงนี้ มีความเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน และน้อมรับในผลโพลที่ออกมา ต้องพยายามทำให้ดีขึ้น
เมื่อถามว่า มีความมั่นใจใช่หรือไม่ว่าในไตรมาสที่ 4 ตัวเลขทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น นายกฯ ระบุว่า มั่นใจ
เมื่อถามต่อว่า แต่ภาคเอกชนเป็นห่วงภาคการเมืองจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เหมือนทุกครั้งที่ตนให้สัมภาษณ์ เรื่องของการเมืองนั้นก็อยู่ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจไทย รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งหมด แต่หน้าที่ของผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเมืองที่เป็นฝ่ายบริหารก็ต้องทำหน้าที่บริหารต่อไป และพยายามลดทอนในเรื่องของความขัดแย้ง หรือการใช้คำพูดอะไรที่เป็นการท้าทาย ตนเชื่อว่าทุกคนทราบดีว่าการเมืองคืออะไร แต่ก็ต้องไม่ให้เรื่องเหล่านี้มาบั่นทอน แต่ละคนมีหน้าที่อะไรก็ขอให้ทำกันไป แต่เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าเราเอาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
“เชื่อว่าถนนการเมืองทุกเส้นก็วิ่งสู่ความต้องการของพี่น้องประชาชน ใครจะมีวิธีการอย่างไรก็น้อมรับและยินดีรับฟัง” นายกรัฐมนตรี กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ (8 มิ.ย.) และถูกมองว่าเป็นลักษณะคล้ายการปลุกปั่น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตนไม่ได้มองว่าเป็นการปลุกปั่น เชื่อว่าแต่ละคนมีวิธีการคิดที่แตกต่างกันไป แต่เชื่อว่านายทักษิณ และคนอื่นๆ ที่ออกมาให้ข่าวในช่วงหลัง ทุกคนเป็นห่วงบ้านเมือง ซึ่งก็มีวิธีการพูดและการตักเตือนที่แตกต่างกันไป ฝ่ายบริหารก็มีหน้าที่รับฟัง อะไรที่เหมาะสมต่อบริบทหรือสถานการณ์โดยรวมของประเทศ ก็เป็นหน้าที่ที่เราต้องรับมาพิจารณา และรับไปปฏิบัติ
ส่วนกรณีที่คำให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณ มองว่ามีลักษณะกระทบชิ่งไปยังพรรคร่วมรัฐบาล จะทำให้กระทบเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คนอยู่ด้วยกันก็มีทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง ตนในฐานะหัวหน้ารัฐบาลก็มีหน้าที่ประสานใจ หากมีเรื่องข้องใจกันก็ต้องมานั่งพูดคุยกัน ตนก็พยายามพูดคุยกับพรรคร่วมอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า ปัญหาที่เข้ามาต่างๆ จะเป็นความท้าทายและจะทำให้การทำงานสะดุดลงหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า เป็นเรื่องท้าทายแน่นอน และมีความเป็นห่วง แต่มั่นใจว่าการทำงานจะไม่สะดุด เพราะเชื่อว่าแรงบันดาลใจจากการที่ประชาชนยังไม่มีความสุขพอ เป็นแรงบันดาลใจที่ผู้บริหารทุกคนอยากจะเห็นความสุขอยู่ในชีวิตของประชาชน พร้อมย้ำว่า ท้าทาย แต่ไม่สะดุด
ส่วนกรณีที่มีการมองว่า การเคลื่อนไหวของนายทักษิณ กระทบภาพลักษณ์ของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย จะต้องมีการพูดคุยกันหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า โดยส่วนตัวพยายามทำตัวให้เป็นน้ำไม่เต็มแก้ว ในข้อแนะนำต่างๆ บางทีสื่อมวลชนแนะนำอะไรมาก็ถือว่าแนะนำแรง บางคนก็พูดจาไพเราะ แต่เราอย่าไปดูว่าวิธีการที่นำเสนอมามันรุนแรง เสียดทาน หรือก้าวร้าว เรามองในเจตนารวมจะดีกว่า เชื่อว่าทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน อยากเห็นประเทศชาติเดินไปข้างหน้า แต่ทุกคนก็มีวิธีการทำงาน มีจุดมุ่งหมายแตกต่างกันไป พยายามมองให้เป็นบวกดีกว่า อย่างที่ตนบอกว่าเป็นความท้าทาย
เมื่อถามว่า ก่อนสภาจะเปิดสมัยประชุมจะมีการพูดคุยกับแกนนำพรรคร่วมหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า พูดคุยกันมาตลอดและจะคุยกันต่อไป โดยในวันจันทร์นี้ (10 มิ.ย.) จะมีการประชุมคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ ก็จะมีโอกาสได้เจอกับพรรคร่วมฯ
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า จะเกิดความกินแหนงแคลงใจจากกรณีนายทักษิณ ให้สัมภาษณ์พาดพิงถึงบุคคลในป่า ที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนคงไปนั่งสนทนากันในเรื่องที่พูดไปแล้ว ให้มีทางออกได้สำหรับทุกฝ่ายมากกว่า เพราะทางออกของทุกฝ่ายก็คือปัญหาของประชาชน เน้นย้ำตรงนี้ดีกว่า
เมื่อถามว่า รู้สึกท้อบ้างหรือไม่ที่ทำงานมาตลอดเดือน แต่ผลสำรวจก็ออกมาไม่เป็นที่พอใจของประชาชน ส่วนเรื่องการเมืองก็มากระทบ ทำให้บั่นทอนความรู้สึกบ้างหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในเมื่อเข้าสู่การเมือง หากเรื่องพวกนี้เกิดขึ้น เราก็ต้องพร้อมที่จะรับมือ
ส่วนการเคลื่อนไหวลักษณะอำนาจเชิงซ้อนระหว่างนายทักษิณกับนายกรัฐมนตรี มีผลต่อสายตาของนักลงทุนต่างชาติบ้างหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตนไม่พูดว่าอำนาจเชิงซ้อนมีหรือไม่มี แล้วแต่คนจะไปคิดกันเอง แต่อำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่ตน ตนเป็นคนเซ็น เป็นคนลงนาม แต่แน่นอนว่าอดีตนายกฯ ท่านไหน ตนก็เข้าไปหา ถ้ามีอะไรที่จะแนะนำ ตนก็น้อมรับ รวมถึงคนอื่นๆ ด้วย ดังนั้น ตนเชื่อว่าอย่าใช้คำว่าอำนาจซ้อนดีกว่า เราใช้คำว่ารัฐบาลนี้รับฟังความเห็นทุกฝ่าย พร้อมยอมรับว่า ต่างชาติก็เคยตั้งคำถามนี้ แต่เชื่อว่าตนพิสูจน์ได้ด้วยการทำงานตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา ว่าการทำงานที่มีเสถียรภาพที่สุด คือ การที่เรารับฟังความเห็นของทุกภาคส่วน
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า สมัยก่อนเจอปัญหาก็เป็นแค่วิกฤติของบริษัทเอกชน มีอะไรเกิดขึ้นในเชิงลบก็กระทบกับคนหมู่น้อย แต่ถ้าเป็นเรื่องการเมือง ในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของประเทศ เป็นหน้าที่ที่นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบประชาชน 70 ล้านคน มันใหญ่กว่า แต่ถามว่าพร้อมไหมที่จะเผชิญและหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ตนถือว่าพร้อม ถ้าดูจากวิธีการทำงาน จะเห็นว่าตนไม่ย่นย่อ ยังเดินหน้าทำงานต่อไป พรุ่งนี้ก็ตื่น 7 โมงเช้าไปทำงาน
ในช่วงท้าย ผู้สื่อข่าวแซวว่า นายกรัฐมนตรียังยิ้มได้ใช่หรือไม่ นายกฯ จึงตอบพร้อมรอยยิ้มว่า “ครับ ยิ้มได้อยู่ครับ บางทีก็กัดฟันเหมือนกัน“ .-316