กรุงเทพฯ 6 เม.ย.-อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เผยเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกรณีการขนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสี จ.สมุทรสาคร ยังไม่พบปนเปื้อน โดยจะเฝ้าระวังต่อเนื่องระหว่างรอกระทรวงอุตสาหกรรมและจังหวัดสมุทรสาคร กำหนดแผนขนย้ายไปฝังกลบที่ จ. ตาก พร้อมให้คำแนะนำในการขนย้ายเพื่อความปลอดภัย
นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมกรณีการขนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสี จากบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนต์ (มหาชน) (ชื่อเดิม บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด) มายัง บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ซึ่งประกอบกิจการหล่อและหลอมอะลูมิเนียมแท่ง อะลูมิเนียมเม็ดจากเศษอะลูมิเนียมและตะกรันอะลูมิเนียม (Scrap and Dross) จังหวัดสมุทรสาคร
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษเข้าร่วมตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2567 โดยเก็บตัวอย่างกากแร่แคดเมียมและสังกะสีและตัวอย่างคุณภาพสิ่งแวดล้อมตรวจสอบได้แก่
- กากแคดเมียมและสังกะสี
- ดินภายในโรงงาน (ในโรงหลอมและนอกโรงหลอม)
- เถ้าจากระบบบำบัดอากาศจากการหลอม
- ดินบริเวณนอกโรงงาน
- ไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศ
- น้ำทิ้ง
ผลการตรวจวัดในเบื้องต้นพบดังนี้
- กากแคดเมียมและสังกะสี มีปริมาณแคดเมียม 24,884 มก./กก. ซึ่งถือเป็นของเสียอันตรายเนื่องจากมีปริมาณวัสดุเจือปนแคดเมียมสูงเกิน 100 มก./กก. (ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566)
- ดินในโรงหลอม พบปริมาณแคดเมียม 7,159 มก./กก. ดินภายในโรงงานนอกโรงหลอม พบปริมาณแคดเมียม 31,584 มก./กก. และดินหน้ารั้วโรงงาน พบปริมาณแคดเมียม 2,838 มก./กก. ซึ่งทั้ง 3 จุด พบว่าสูงเกินเกณฑ์การปนเปื้อนในดินภายในโรงงาน (เกณฑ์การปนเปื้อนในดินภายในโรงงาน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดเกณฑ์การปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินฯ พ.ศ. 2559 ต้องไม่เกิน 810 มก./กก.) –
- เถ้าจากระบบบำบัดอากาศจากการหลอม ตรวจไม่พบแคดเมียม
- ดินบริเวณชุมชนด้านเหนือลมและท้ายลมในระยะ 10 เมตร ตรวจไม่พบปริมาณแคดเมียม
- ตรวจไม่พบไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศ
ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างน้ำ 3 จุด ได้แก่ 1) รางระบายน้ำหน้าโรงหลอม 2) รางระบายน้ำหน้าอาคารสำนักงาน และ 3) คลองธรรมชาติซึ่งจะต้องนำเข้าตรวจในห้องปฏิบัติการซึ่งจะได้เร่งรัดผลโดยเร็ว
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวว่า ได้ประชุมหารือร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 3 (พิษณุโลก) สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5 (นครปฐม) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร (ทสจ.สมุทรสาคร) และจังหวัดตาก (ทสจ.ตาก) เพื่อติดตามความก้าวหน้าและซักซ้อมเตรียมการให้การสนับสนุนทางเทคนิคในการวางแผนขนย้ายกากของเสียจากจังหวัดสมุทรสาครกลับมาฝังกลบแบบปลอดภัย ณ จังหวัดตากรวม 7 ประการประกอบด้วย
1) จากการตรวจพบแคดเมียมในดินหน้ารั้วโรงงานบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอาจจะติดไปกับล้อรถขนส่งได้ จึงมีข้อเสนอให้ มีการดูดฝุ่นและจัดเก็บดินปนเปื้อนเพื่อไปกำจัดอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ได้หยุดประกอบกิจการชั่วคราวตามคำสั่งของอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และไม่มีคนงานเข้าไปทำงานแล้ว
2) คนงานที่ปฏิบัติงานในโรงงาน บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร รวม 19 ราย เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ได้รับการเก็บตัวอย่างปัสสาวะไปตรวจสอบแล้ว 11 ราย เหลืออีก 8 ราย ซึ่งจะมีการเก็บปัสสาวะเพิ่มเติมในวันที่ 9 เมษายน 2567
3) ทสจ. สมุทรสาครได้ขอความรู้เรื่องการพิจารณาการปนเปื้อนของกากของเสียในสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครต่อไป
4) จากข้อเสนอให้มีการขนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสีกลับมาฝังกลบแบบปลอดภัย ณ หลุมฝังกลบเดิม จังหวัดตาก นั้น มีข้อห่วงกังวลด้านโครงสร้างทางวิศวกรรมของหลุมฝังกลบเนื่องจากมีการเปิดหลุมและใช้เครื่องมือหนักในการขุดกากแคดเมียมและสังกะสีออกไป จึงเสนอให้มีการตรวจสอบโครงสร้างทางวิศวกรรมดังกล่าวว่า มีความพร้อมในการดำเนินการฝังกลบแบบปลอดภัยอีกครั้งได้หรือไม่ อีกทั้งหากยังไม่มีความพร้อมควรดำเนินการจัดเตรียมอาคารจัดเก็บชั่วคราวอย่างไร หรือควรจัดเก็บไว้ในโกดัง บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ไปพลางก่อน เนื่องจากอาคารโกดังของบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จังหวัดตาก ได้รับการรื้อถอนหมดนานแล้ว
5) กรณีกากที่จะนำไปฝังกลบต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติของกากของเสีย (TTLC/STLC) และอื่นๆ ในห้องปฏิบัติการ เพื่อประกอบการพิจารณาว่าต้องมีการดำเนินการบำบัดกากของเสียก่อนฝังกลบตามหลักเกณฑ์การฝังกลบแบบปลอดภัยอีกครั้งหนึ่งด้วยหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้ในระยะเวลาในการเตรียมการข้อ 2 และการตรวจคุณสมบัติกากเช่นว่านี้ อาจต้องใช้เวลาไม่สามารถดำเนินการรองรับการขนขนย้ายกากของเสียให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครกำหนดไว้ได้
6) การพิจารณาข้อจำกัดด้านความพร้อมด้านอุปกรณ์เครื่องมือในการติดตามตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดตากและ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 3 (พิษณุโลก) รวมทั้งจังหวัดเส้นทางขนส่งที่มีระยะทางค่อนข้างไกลจากจังหวัดสมุทรสาครและ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5 (นครปฐม) ในพื้นที่รับผิดชอบเกี่ยวข้อง อาจไม่เพียงพอรองรับการเฝ้าระวังผลกระทบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการดำเนินการขนย้ายกากดังกล่าว
7) เมื่อพิจารณาประเมินความพร้อมและความเป็นไปได้ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้นแล้วอาจมีความเสี่ยงในการดำเนินการและอาจล่าช้าไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด อาจต้องพิจารณาทางเลือกในการฝังกลบที่สถานกำจัดกากของเสียอื่นในจังหวัดสมุทรสาครหรือจังหวัดอื่นที่ใกล้เคียง เพื่อลดความเสี่ยงจากการขนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสีซึ่งมีปริมาณมาก
กรมควบคุมมลพิษได้ฝากประเด็นข้อพิจารณาต่างๆ ดังนี้นี้ ตามข้อ 4 – 7 ให้ ทสจ.ตาก และสมุทรสาคร นำเรียนปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อหารือร่วมกันประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับทางเลือกในการกำจัดกากที่กองเก็บอยู่ภายในโรงงานดังกล่าว
สำหรับผลการตรวจสอบตัวอย่างดินบริเวณรอบโรงงานซึ่งขยายรัศมีการเก็บตัวอย่างจากเดิมในระยะไม่เกิน 10 เมตร ไปจนถึงระยะไม่เกิน 1 กิโลเมตร ตรวจไม่พบการปนเปื้อนของแคดเมียม ยกเว้นบริเวณหน้ารั้วโรงงาน พบแคดเมียมในระดับ 3,430 มก./กก. (สูงเกินเกณฑ์การปนเปื้อนในดินภายในโรงงาน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดเกณฑ์การปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดินฯ พ.ศ. 2559 ต้องไม่เกิน 810 มก./กก.)
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษเฝ้าระวังผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนี้มีคำสั่งปิดพื้นที่ไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปแล้ว
ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีพบสารแคดเมียมกว่า 15,000 ตัน ในจังหวัดสมุทรสาคร ว่า ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร เข้าตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นยังไม่มีข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียมในบริเวณดังกล่าว ตลอดจนกากแคดเมียมและกากสังกะสี ซึ่งผสมด้วยปอร์ตแลนด์ซีเมนต์ 30 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันอยู่ในสถานะแข็งตัวและเสถียร หากเก็บไว้ในสถานที่มิดชิดและไม่มีการชำระล้าง จะยังไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมเน้นย้ำให้กรมควบคุมมลพิษให้เก็บตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบหาสารปนเปื้อนทั้งในโรงงาน ในอากาศ และแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อรายงานผลให้ประชาชนรับทราบโดยด่วน เพราะหากใช้เวลานานเกินไปก็จะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนได้ นอกจากนี้สั่งการให้กรมควบคุมมลพิษส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่พบประชาชนเพื่อให้คำแนะนำในการดำเนินชีวิตในช่วงนี้ด้วย
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษต้องร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการให้คำแนะนำ ปรึกษา ในด้านวิชาการ ช่วยดูแลการขนย้ายและเก็บรักษาแคดเมียมให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด โดยจะมีการตั้งคณะทำงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ดูแลเรื่องนี้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และยังได้ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบโรงงานถลุงแร่ว่ามีการจัดทำ EIA และได้ปฏิบัติตามมาตรการ EIA ที่กำหนดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบแล้วพบว่าสภาพแวดล้อมมีสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ให้ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายโดยเคร่งครัด รวมถึงค่าการฟื้นฟูบริษัทต้องรับผิดชอบตามหลักผู้ก่อมลพิษ หรืออาจจะต้องถูกยึดใบอนุญาตประกอบกิจการจากหน่วยงานที่ให้อนุญาตด้วย.- 512 – สำนักข่าวไทย