กรุงเทพฯ 28 พ.ค. – เตรียมรับมือดีเซลขึ้น 5 บาท/ลิตร หลัง ก.คลัง ออกกฎกระทรวงไม่ต่ออายุลดภาษีสรรพสามิตดีเซล ที่จะสิ้นสุด 21 ก.ค.66 ด้าน สกนช. เตรียมหารือจัดทำแผนรับมือ
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า ในขณะนี้รับทราบถึงประกาศกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซล โดยกำหนดที่จะไม่ต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาท/ลิตร ออกไป โดยจะสิ้นสุด 21 ก.ค.66 ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามประกาศกฎกระทรวง เมื่อวันที่ 12 พ.ค.66 ซึ่งคงจะหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง เพราะหากขึ้นทันที 5 บาท/ลิตร จะกระทบต่อประชาชน เช่น ขณะนี้ราคาดีเซล 32 บาท/ลิตร หากขึ้นภาษี 5 บาท ราคาก็จะไม่ต่ำกว่า 37 บาท/ลิตร
“ช่วงสิ้นสุดของมาตรการลดภาษีดีเซล 21 ก.ค.66 จะเป็นไทม์ไลน์ที่ยังไม่ได้รัฐบาลใหม่ ทางกระทรวงพลังงานคงต้องหารือกับกระทรวงการคลัง และสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่จะทำแผนรับมือเอาไว้ และคงจะต้องหารือกับทางรัฐบาลรักษาการว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด หากในช่วงเวลาดังกล่าวราคาดีเซลตลาดโลกไปในทิศทางขาขึ้น และกองทุนฯ ไม่อาจจัดเก็บรายได้จากดีเซลเข้าสะสมมากพอ” แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุ
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการ สกนช. กล่าวว่า สกนช.เองคงจะต้องหารือกับทุกฝ่าย เพื่อที่จะวางแนวทางในการรับมือ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถจัดเก็บเงินจากดีเซลเข้าสะสมในกองทุนน้ำมันฯ เฉลี่ยราว 5 บาท/ลิตร ดังนั้น คงจะต้องติดตามราคาน้ำมันตลาดโลกเป็นสำคัญ และยังพอมีเวลา ขอประชาชนอย่าตกใจว่าราคาจะขึ้นทันที 5 บาท/ลิตร เพราะต้องอยู่กับปัจจัยต่างๆ ณ วันนั้นด้วย ซึ่งหากราคาโลกลดลง เงินกองทุนฯ สะสมมากขึ้นเพียงพอดูแลเสถียรภาพ เร่งแก้ปัญหาหนี้เดิม สภาพคล่องเพิ่มขึ้น ราคาดีเซลอาจลดลง เมื่อขึ้นภาษีแล้ว ราคาขายปลีกก็อาจไม่เพิ่มขึ้นมาก
ทั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามประกาศกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซล โดยกำหนดที่จะไม่ต่อมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 5 บาท/ลิตร ออกไป โดยจะสิ้นสุด 21 ก.ค.66 เนื่องจากให้รอรัฐบาลใหม่มาพิจารณา เพราะว่าด้วยเรื่องของงบประมาณการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตที่หายไปด้วย
โดยมาตรการลดภาษีดีเซลที่ผ่านมา รวม 7 ครั้ง กระทบรายได้รัฐ 158,000 ล้านบาท ดังนี้ วันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค.65 (3 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 3 บาท รัฐสูญรายได้ 18,000 ล้านบาท วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.65 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท วันที่ 21 ก.ค.-20 ก.ย.65 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท วันที่ 21 ก.ย.-20 พ.ย.65 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท วันที่ 21 พ.ย.65-20 ม.ค.66 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท วันที่ 21 ม.ค.-20 พ.ค.66 (4 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 40,000 ล้านบาท และวันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค.66 (2 เดือน) ลดภาษีลิตรละ 5 บาท รัฐสูญรายได้ 40,000 ล้านบาท
ในขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าดูแลราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม ปัจจุบันมีสถานะที่ดีขึ้น จากเดิมติดลบสูงสุดเกือบ 1.4 แสนล้านบาท แต่ขณะนี้เหลือเพียงลบ 72,000 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย