กรุงเทพฯ 29 มี.ค. – รฟท. ขสมก. และกรุงไทย ผนึกกำลังออก “บัตรเหมาจ่าย” นั่งรถไฟฟ้าสายสีแดง 50 เที่ยว ขึ้นรถเมล์ ขสมก. ราคาเดียว 2,000 บาทต่อเดือน นั่งได้ไม่จำกัด รองรับหลายพรรคการเมือง ออกนโยบายลดต้นทุนการเดินทาง
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า รฟท. เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม จึงนำเทคโนโลยี EMV Contactless เป็นระบบการชำระเงิน ถูกออกแบบมาเป็นทางเลือกในการชำระค่าโดยสาร มาตรฐานระดับสากล จึงเป็นจุดเริ่มต้น ในการพัฒนา “บัตรเหมาจ่าย” ไปสู่ระบบตั๋วร่วมสมบูรณ์แบบ รองรับการเชื่อมต่อการเดินทางทุกระบบ ด้วยตั๋วร่วมเพียงหนึ่งใบ และยังพร้อมขยาบริการนำไปซื้อสินค้า ชำระค่าบริการต่างๆ เชื่อมโยงทุกระบบการชำระเงินได้ภายในอนาคต
นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า นับว่าเป็นบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม การร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และธนาคารกรุงไทย เพื่อจ่ายค่าโดยสารประจำ ขสมก. และรถไฟฟ้าสายสีแดง ถือเป็นการนำร่องระบบตั๋วร่วม ระหว่างระบบล้อ และระบบราง ครั้งแรกของไทย การซื้อตั๋วร่วมด้วย“บัตร Transit Pass” ช่วยประหยัดได้ถึง 270 บาท เมื่อซื้อตั๋วรายเดือน 2,000 บาท
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง กล่าวว่า การพัฒนาระบบชำระค่าโดยสารแบบบัตรเหมาจ่าย ได้เริ่มทดลองใช้บริการผ่านระบบ EMV Contactless โดยใช้บัตรเหมาจ่ายในการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถเมล์ ขสมก.ได้อย่างไม่มีขอบเขต โดยรถไฟฟ้าสายสีแดงสามารถนั่งได้ถึง 50 เที่ยวหรือ 30 วัน ต่อเดือน เช่นเดียวกัน รถเมล์ ขสมก. สามารถนั่งได้แบบไม่จำกัดตลอด 30 วัน โดยบัตรใบนี้มีมูลค่าต่อเดือน จำนวน 2,000 บาท ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดงมีผู้โดยสารกว่า 20,000คนต่อวัน และรถเมลล์ ขสมก. มีผู้โดยสารกว่า 7 แสนคนต่อวัน
นายกิตติพัฒน์ เพียรธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า วางยุทธศาสตร์ กำหนดให้การคมนาคมขนส่งเป็น 1 ใน 5 ระบบนิเวศหลัก (Ecosystems) ในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาบริการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ประชาชน ผ่านระบบตั๋วร่วม ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยได้ร่วมกับ ผู้ให้บริการขนส่งมวลชน ทั้ง ทางด่วน รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ รวมถึงรถโดยสาร มุ่งพัฒนาระบบชำระค่าโดยสารให้ครอบคลุมในอนาคตต่อไป
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ต้องทำการประเมินอีกประมาณ 6 เดือน เพื่อเจรจาขยายบัตร EMV ไปยังเครือข่ายอื่นของภาคเอกชน ทั้งรถไฟฟ้า สีม่วง น้ำเงิน เพราะบัตร EMV เป็นระบบพัฒนาเอาไว้รองรับการเชื่อมโยงกับการเดินทางทั้งทางรถเมล์ รถไฟฟ้า ทางน้ำ เมื่อประชาชนเติมเงินเข้าไปในบัตรแล้ว ผู้ให้บริการแต่ละรายจะตัดเงินจากบัตรตามการใช้บริการ อีกทั้ง ยังรองรับนโยบายพรรคการเมือง ที่กำลังหาเสียงเลือกตั้งในช่วงนี้ได้ ในการกำหนดค่าโดยสาร ลดภาระต้นทุนการเดินทางของประชาชน .-สำนักข่าวไทย