TRAUMA DUMPING พฤติกรรมการระบายความทุกข์ของตัวเองให้คนอื่นฟังมากเกินไป เคยเป็นกระแสอย่างมากในโลกออนไลน์ ที่อาจส่งผลเสียได้ทั้งต่อตัวคนเล่า และคนที่เข้ามาพบเห็น
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม รองคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
TRAUMA ความโศกเศร้า ความทุกข์ ความเจ็บปวด
DUMPING โยนทิ้ง (ให้ใครก็ไม่รู้)
พฤติกรรมของคนที่ชอบเล่าความทุกข์ของตัวเองให้คนอื่นฟัง โดยไม่ถามความสมัครใจ ส่งผลต่อความรู้สึกคนฟังอย่างไร
1. หดหู่กับข้อมูลและเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟัง
2. ไม่สบายใจที่จะต้องรับรู้ความทุกข์ของคนอื่น
ปัจจุบัน TRAUMA DUMPING พบได้มากขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์
สื่อสังคมออนไลน์ทำให้คนมีพื้นที่เล่าเรื่องต่าง ๆ หลากหลาย ระบายอย่างเปิดเผยแม้กระทั่งเรื่องส่วนตัว
แนวโน้มช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการอัดคลิปและเล่าเรื่องราวประสบการณ์ของตัวเองมีมากขึ้น และมีคนเข้ามาพูดคุย แสดงความคิดเห็น ปฏิสัมพันธ์ด้วยจำนวนมาก
บางคนอาจจะลืมคิดถึงขอบเขตการเล่าเรื่องประสบการณ์ชีวิต เพราะคนที่รับรู้เรื่องราวของเราไม่ใช่คนที่เรารู้จักคุ้นเคยทั้งหมด และมีหลายคนไม่ได้ต้องการรับฟังความทุกข์โศก ความเจ็บปวด ความเศร้าของคนอื่น
ดังนั้น จะต้องทำความเข้าใจการระบายความรู้สึก เพื่อบำบัด กับการระบายเรื่องความโศกเศร้า ความทุกข์ระทม โดยไม่ได้ตั้งตัว
การระบายเรื่องราวต่าง ๆ ออกมากับคนที่เข้าใจ สามารถให้คำปรึกษาได้ พร้อมรับฟัง คนฟังรู้ว่าจะจัดการกับอารมณ์ตัวเองแบบไหน อย่างไร ซึ่งสามารถช่วยบำบัดและทำให้การระบายออกของคนที่มีปัญหานำไปสู่หนทางแก้ไขได้
การนำเรื่องราวระบายออกอย่างนี้สามารถทำได้ไม่ผิดอะไร เพราะรู้ว่ากำลังคุยกับคนกลุ่มไหน
สำหรับกรณีของคนที่โพสต์ทุกที่ พูดทุกแห่ง เพื่อนฝูงและคนอื่นที่อยู่บนสื่อสังคมออนไลน์ต้องมารับฟังเรื่องราวเหล่านี้ประจำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีสำหรับคนที่จะต้องมารับรู้ด้วย เนื่องจากมีบางคนหดหู่ ทุกข์ใจ จากเรื่องที่ (ไม่ต้องการ) รับรู้เหล่านั้นตามไปด้วย
สังเกตได้อย่างไรว่ากำลังมีพฤติกรรม TRAUMA DUMPING หรือไม่ ?
เรื่องนี้จริง ๆ ก็มีขีดจำกัดหรือข้อจำกัดในการระบายเรื่องราวบนสื่อสังคมออนไลน์
ถ้าเรื่องราวที่ระบายออกไม่ได้มีความรุนแรงเกินไป หรือไม่ใช่เรื่องลึกซึ้งเชิงจิตวิทยามากนัก
บางคนอาจหงุดหงิดอยากระบายออกไปก็พอทำได้ ในขอบเขตที่เหมาะสม
คิดง่าย ๆ คือ ไม่ได้นำความทุกข์ไปใส่ใคร
ดังนั้น ถ้าระบายแล้ว มีคนอื่นมาแนะนำ ออกความเห็น เสนอแนะสิ่งต่าง ๆ ก็ต้องยอมรับฟังด้วย เพราะแต่ละคนก็มีชุดข้อมูลของตัวเอง หรือมีความเห็นกับสิ่งที่รับรู้แตกต่างกัน และไม่ควรนำข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาทำร้ายตัวเอง
ถ้าเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน มีผลกระทบต่อจิตใจค่อนข้างสูงก็ควรพบผู้เชี่ยวชาญดีกว่า เช่น จิตแพทย์ นักจิตบำบัด
สังคมไทยควรยอมรับว่าการเข้าพบจิตแพทย์ นักจิตบำบัด เป็นเรื่องปกติ เพราะมีวิธีรับฟังและคลี่คลายปัญหาได้ จะทำให้การระบายนั้นเป็นการระบายที่มีคุณภาพมากกว่า
TRAUMA DUMPING อาจเกิดขึ้นจากความรู้สึกอัดอั้นตันใจ อยากระบายให้คนอื่นรับรู้ด้วย แต่การระบายที่มากเกินอาจส่งผลกระทบต่อผู้อื่นได้ และบางครั้งอาจลงรายละเอียดหรือข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป เป็นการเปิดประตูสร้างความบอบช้ำมากกว่าเดิม ถ้าหากมีผู้ไม่หวังดีนำข้อมูลเหล่านั้นไปเผยแพร่ต่อก็อาจได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงจากคนแปลกหน้าบนสื่อสังคมออนไลน์
สัมภาษณ์โดย จิรัชยา นวลนิ่มน้อย และ จิราภา อ่อนเกลี้ยง
เขียนและเรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ KEYWORD : TRAUMA DUMPING ? — เล่าหมดไม่สนใคร ทิ้งความปวดใจไว้ให้คนฟัง
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter