แจ้งวัฒนะ 1 มี.ค.-ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ยกฟ้องคดีที่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ยื่นฟ้องขอให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณี มีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ และวิธีพิจารณาผู้ชนะการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งทำให้เอกชนผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
โดยศาลเห็นว่า มติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ และวิธีพิจารณาผู้ชนะการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ของ รฟม. เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฏหมาย ไม่เป็นการละเมิด ไม่เป็นการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ ซึ่งรฟม.มีอำนาจในการแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาผู้ชนะการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โดยไม่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชน
นายโกสิทธิ์ ประสิทธิเวโรจน์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือBTSC เผยว่า แต่ย่ำว่าคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจในการแก้ไขหลักเกณฑ์ในการประมูลในครั้งก่อน แต่ขณะนี้ก็ยังมีข้อพิพาทเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประมูลที่อยู่ยังค้างอยู่ซึ่งจะต้องติดตามการพิจารณาของซาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด
โดยคำพิพากษาคดีที่ออกมาในวันนี้ ไม่มีผลต่อคดีอื่นๆ ที่ยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณา
สำหรับคดีที่ยังอยู่ในกระบวนการศาลปกครองที่เหลืออีก 2 คดี ประกอบด้วย คดีหมายเลขดำที่ 580/2564 คดียกเลิกการประมูล ซึ่งศาลปกครองกลางพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565 ชี้ว่าการยกเลิกประมูลผลจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์คัดเลือกในครั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขณะนี้รอศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา
คดีหมายเลขดำที่ 1646/2565 โดย BTSC ฟ้องประเด็นที่มีการกีดกันไม่ให้เข้าร่วมการประมูล ซึ่งเป็นคดีล่าสุดที่ศาลปกครองกลางรับไว้พิจารณา ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณา ยังไม่มีกำหนดนัดไต่สวนเพิ่มเติม .-สำนักข่าวไทย