เชียงใหม่ 11 พ.ย. – หมอหนุ่มโพสต์เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้ายขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งมาให้ ปัจจุบันกำลังรักษาด้วยเคมีบำบัด ยังอ่อนเพลีย ขอโทษสื่อที่ยังไม่พร้อมให้สัมภาษณ์เนื่องจากอยู่ในกระบวนการรักษา
นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อายุ 28 ปี เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ได้เปิด เพจชื่อ สู้ดิวะ เล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองว่า มันจะเรียกว่า ระยะสุดท้ายก็ได้ครับ ระยะลุกลาม ระยะที่เรียกได้ว่าไม่สามารถผ่าตัดเอาก้อนออกแล้วก็หายขาดได้อย่างแน่นอนครับ กำลังบรรจุเป็นอาจารย์แพทย์ได้ 2 เดือน ก็ได้ตั๋วเลื่อนขั้นเป็นอาจารย์ใหญ่เฉยเลย
ผมก็สงสัยเหมือนกัน ผมมั่นใจในสุขภาพร่างกายตัวเองมากๆ นะ ทั้งเข้ายิมสม่ำเสมอ เล่นกีฬา กินอาหารคลีน ไม่สูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็น้อยมากๆ ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เครียด นอน 4 ทุ่ม ตื่น 6 โมงเช้า มาอ่านหนังสือ ทำวิจัย สอนนักศึกษา ไม่ได้เข้าเวรอดนอนอะไรเลย การงานอาชีพที่เรียกได้ว่ากำลังไปได้สวย เพิ่งจะอดทนเรียนแพทย์เฉพาะทางจบ พร้อมกับปริญญาโทวิทยาการข้อมูลอีกใบเพื่อมาทำงานเป็นอาจารย์แพทย์ตามที่ฝันไว้
แล้วผมก็เริ่มไอครับ ไอมีเสมหะบ้าง ไอแห้งบ้าง ตรวจโควิดแล้วก็ไม่เจอ เอาจริงๆ คือเพิ่งจะมีเวลาว่างจากงานด้วยครับ 3 ตุลาคม 2565 เป็นวันที่ไม่มีตารางงานเลยจึงถือโอกาสไปตรวจสุขภาพหน่อย
Chest X-ray บอกผมว่า ชีวิตผมจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว เป็นฟิล์มที่ปอดข้างขวาผมเหลืออยู่ครึ่งเดียว ลักษณะเหมือนมีก้อนกับน้ำอยู่ในปอดด้านขวา และปอดด้านซ้ายก็มีก้อนเล็กๆ เต็มไปหมด
หลังจากผ่านการตรวจทุกอย่างมาแล้ว ทั้งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ผ่าตัดเข้าไปเพื่อไปเอาชิ้นเนื้อมาตรวจ ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สมอง ผลมันก็คือผมเป็นมะเร็งปอดจริง ๆ แถมเป็นระยะสุดท้ายด้วย ตัวก้อนหลักขนาดเกือบ 8 cm ที่ปอดด้านขวา นอกจากนี้ตัวมะเร็งยังมีการกระจายไปที่เยื่อหุ้มปอด และปอดข้างซ้ายอีกหลายจุด ที่สำคัญคือ มันกระจายไปที่สมองถึง 6 ก้อนด้วยกัน แต่ละก้อนก็ใหญ่ซะด้วย โชคดีที่ผมไม่มีอาการทางสมองอะไร ทั้งที่ตำแหน่งที่มันกระจายไป สามารถทำให้ผม แขนขาอ่อนแรง ชา เดินไม่ตรง ทรงตัวไม่ได้ หรือแม้แต่เสียการมองเห็นไปเลย
ผมมีสุขภาพที่โคตรแข็งแรง มีการงานที่โคตรมั่นคงและมีอนาคตสดใส ผมมีสังคมและความสัมพันธ์ที่อบอุ่นมากๆ รายล้อมไปด้วยผู้คนที่สุดยอดและน่ารัก ผมกำลังจะแต่งงานกับผู้หญิงที่ผมรักมากที่สุด ผมกำลังจะสร้างบ้านในฝันของเรา
ผมก็จั่วได้การ์ดที่ชื่อว่ามะเร็งระยะสุดท้าย การ์ดที่ถึงผมจะไม่อยากได้ แต่ผมก็มีมันอยู่ในมือ มันเหมือนโลกทั้งใบของเราแตกสลายลงไปต่อหน้าเลยนะครับ แผนชีวิตที่วางมาทั้งหมด พังลง ต่อหน้าต่อตาเลย ผมก็ได้กลายเป็นคนที่มีเวลาชีวิตจำกัดขึ้นมาทันทีผมคงไม่ได้แก่ตายแน่ ๆ เวลาจำกัดแค่ไหนเหรอครับ ก็อาจจะหลักเดือน หกเดือน หนึ่งปี สองปี ถ้าโชคดีหน่อยก็อาจจะห้าปี
ผมทำได้แค่ภาวนาให้ยาตอบสนองให้โรคสงบ ให้ไม่มีผลข้างเคียงอะไรเกิดขึ้น ภาวนา ให้มีชีวิตอยู่อย่างปกติไปได้อีกสักวัน หรืออีกสักเดือน แต่คุณเชื่อไหมผมไม่เสียดายชีวิตที่ผ่านมาเลยนะ 28 ปีที่ผ่านมาของผม มันยอดเยี่ยมและมีคุณค่ามากพอที่จะเรียกว่าชีวิตที่มีความหมายแล้ว
หลังจากคุณหมอโพสต์เรื่องราว ตลอดวันนี้ในเพจสู้ดิวะ มีคนมาให้กำลังใจคุณหมอ เป็นหลายหมื่นคน ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายโมงเศษวันนี้ ในเพจสู้ดิวะ ของคุณหมอ ได้โพสต์ ผมขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งมาให้ และขอบคุณคนที่ได้พลังไปจากโพสต์ของผมครับ จากใจเลยคือผมตกใจมาก ๆ กับกระแสที่เกิดขึ้น ผมตั้งใจทำเพจนี้ขึ้นมาเพื่อจะรวบรวมความคิด มุมมอง และสิ่งที่ผมตกตะกอน เอาจริงๆ คือเพื่อจะเอาไปเขียนเป็นหนังสือรวมเล่มสักเล่มนึง แค่นั้นเลยครับ ความตั้งใจของผม มีแค่การเขียนเล่าเรื่องราวและส่งต่อพลังให้กับคนอื่นเท่านั้นครับแต่ผมจำเป็นต้องบอกตามตรงว่า
“ขณะนี้ผมเองอยู่ในกระบวนการรักษา” ยังต้องรับยาเคมีบำบัด ณ วันที่พิมพ์อยู่นี้ ผมก็ยังคงปวดหัว อ่อนเพลีย ผมร่วง และภูมิคุ้มกันต่ำ เหนือสิ่งอื่นใด ถึงผมจะดูจิตใจเข้มแข็งแค่ไหน แต่เรื่องทุกอย่างเพิ่งเกิดขึ้นได้หนึ่งเดือนครับ ผมและครอบครัว รวมถึงเพื่อนสนิทเอง ก็ยังไม่ได้อยู่ใน “สภาพที่พร้อมพอ” ที่จะให้ทุกคนมาเยี่ยม ที่จะไปเจอทุกคนได้ครับหวังว่าทุกคนจะเข้าใจครับ ผมต้องขอโทษจากใจจริงๆที่คงไม่สะดวกไปสัมภาษณ์กับสื่อสำนักไหนครับ
ผมดีใจมากๆ ครับที่เรื่องราวของผมสร้างแรงบันดาลใจและบางมุมก็ทำให้หลายคนอยากส่งกำลังใจกลับมาให้ผม อยากช่วยเหลือผม บางคนจะโอนเงินให้บ้าง จะบินมาหาบ้าง ขอบคุณทุกคนอีกครั้งนะครับผมอยากบอกว่าชีวิตปกติของผม มันโอเคมาก ๆ แล้วครับ ผมมีความสุขดีมาก ๆ
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดถือเป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง ปัจจัยเสี่ยงคือการสูบบุหรี่หรือการได้รับควันบุหรี่มือสอง และการสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น
ผู้ป่วยที่ระยะแรกมักจะไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นก็จะมีอาการ แต่ก็มักไม่จำเพาะ จึงอาจทำให้เกิดการวินิจฉัยที่ล่าช้า มีผลต่อระยะของโรคที่ลุกลามหรือแพร่กระจายไปมาก ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและมีโอกาสการรักษาหายจากโรคน้อย โดยทั่วไปมะเร็งปอดมีสัญญาณเตือน เช่น อาการไอเรื้อรังมากกว่า 1 เดือน ไอมีเสมหะปนเลือด หายใจลำบาก เหนื่อยหอบง่ายมากกว่าปกติ เจ็บแน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เป็นต้น
ด้านการรักษามีวิธีหลัก ๆ ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากระยะของโรค ตำแหน่งของก้อนมะเร็ง และการกระจายของโรค รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย การคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ดีที่สุดคือการทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด. -สำนักข่าวไทย