สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน 10 เม.ย. – ครบรอบ 17 ปี วันสถาปนาสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน “วิทวัส” ภูมิใจผลงานด้านจริยธรรม ระบุ คดีจริยธรรม “ธีรวัฒน์” ไม่หลุดแม้ รธน.ใหม่ผู้ตรวจไม่ได้ดูแลเรื่องจริยธรรม แต่ ป.ป.ช. ต้องทำต่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินว่า พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานในงานวันสถาปนาสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินครบรอบ 17 ปี ตั้งแต่ช่วงเช้าพล.อ. วิทวัส รชตะนันทน์ และนายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้สักการะพระพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ
จากนั้นมีหน่วยงานและผู้แทนระดับสูงของแต่ละองค์กรเข้าร่วมอวยพรแสดงความยินดี เช่น นายพิเชต สุนทรพิพิธ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ นายศรีราชา วงศารยางกูร อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการ กกต. นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
นายนพดล เฮงเจริญ รองประธานศาลปกครองสูงสุด นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. นายประจักษ์ บุญยัง รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย ผู้แทนกรมคุมประพฤติ ผู้แทนสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานจเรตำรวจ ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้แทนบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ตลอดจนผู้แทนกระทรวง กรม ธนาคาร และบริษัทต่าง ๆ อีกจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาเป็นงานพิธีสงฆ์ โดยพระพรหมมังคลาจารย์ (ธงชัย ธมมธโช) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร บรรยายธรรมเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติหน้าที่แก่ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่
พล.อ.วิทวัส ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญของจุดเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญเก่า และรัฐธรรมนูญใหม่ ที่การทำหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีการเปลี่ยนแปลง หมดหน้าที่ตรวจสอบเรื่องจริยธรรม โดยไปเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. แต่จะมีหน้าที่มากขึ้นในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อน มีหน้าที่ที่ต้องเร่งทำ 2 เรื่อง คือการยกร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน และปรับโครงสร้างการทำงานให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญใหม่ ที่จะยึดประชาชนเป็นสำคัญ และหากคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ตรงกับความเห็นของ ครม. ก็จะหาทางออกโดย กฎหมายลูกจะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่าย เพื่อนำไปสู่การแสดงข้อเท็จจริง เพื่อให้ได้ข้อยุติของคำวินิจฉัย สำหรับผลงานในอดีตที่ภูมิใจ คือ การสร้างเสริม การตรวจสอบจริยธรรม เพราะ จริยธรรม สามารถที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆในสังคมได้ ถ้าประชาชนมีจริยธรรม
ส่วนกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นเรื่องให้ตั้งกรรมการสอบจริยธรรม นาย ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิช กกต. พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญใหม่ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะไม่ได้ดูเรื่องจริยธรรมแล้ว แต่ไม่ถือว่าเรื่องดังกล่าวตกไป เพราะเมื่อสอบเสร็จจะต้องส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ดูแลเรื่องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญใหม่ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของ กกต. ที่ล่าช้า ทางผู้ตรวจการแผ่นดินคงไม่ต้องไปติดตามเรื่อง แต่ ป.ป.ช. คงรู้หน้าที่ของตนเอง ที่จะติดตามเรื่องดังกล่าว
พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า การแต่งตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ยังไม่พบข้อจำกัดเรื่องการแต่งตั้งประธาน ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินในขณะนี้เหลืออยู่เพียง 2 คน ซึ่งตนจะใช้โอกาสในช่วงที่องค์กรอิสระอื่น ๆ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหมดวาระในเดือน พ.ค. หารือ กับประธานรัฐสภา แต่ยังไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอน
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อปี 2543 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการรับเรื่องร้องเรียน จำนวน 41,156 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 38,341 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 93.16 สำหรับเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาในรอบปีงบประมาณ 2560 (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2559 – ปัจจุบัน) มีเรื่องร้องเรียนรับไว้ดำเนินการทั้งสิ้น จำนวน 1,247 เรื่อง สถิติเรื่องร้องเรียน 17 ปี ที่ผ่านมา พบว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติและเทศบาลถูกร้องเรียนมากที่สุด เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชน ปัญหาการกระทบกระทั่งและไม่เข้าใจ ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการจัดงานครบรอบ 17 ปีครั้งนี้ นอกจากฟังเทศน์ ฟังธรรม รดน้ำขอพรจากผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้เป็นสิริมงคลและขวัญกำลังใจในการทำงานแก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย .-สำนักข่าวไทย