เอสเอ็มอีทาวเวอร์ 7 เม.ย. – เอสเอ็มอีแบงก์เดินหน้าปล่อยสินเชื่อ SMEs Transfomation Loan คาดปล่อยสินเชื่อหมดภายใน 6 เดือน สร้างเงินหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจ 68,700 ล้านบาท
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสหากิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เปิดเผยว่า หลังจากหน่วยงานรัฐทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มุ่งหวังดึงผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 35,000 ล้านบาท จำนวน 9,000 ราย เกิดการจ้างงาน 72,000 ราย สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบ 151,140 ล้านบาท เอสเอ็มอีแบงก์นำร่องเปิดตัวสินเชื่อ SMEs Transfomation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท เน้นปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรม เอสเอ็มอีต้องการปรับตัวเข้าสู่ยุคอุตสหกรรม 4.0 เอสเอ็มอี 4.0 เช่น เอสเอ็มอีกลุ่มธุรกิจ S-Curve ตามเป้าหมายของรัฐบาล หรือกลุ่มขยายการส่งออกไปต่างประเทศ
ทั้งนี้ ธนาคารเตรียมวงเงิน 15,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยปีที่ 1-3 เพียงร้อยละ 3 ต่อปี เพื่อช่วยผลักดันเศรษฐกิจก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนกว่า 3,000 ราย กำหนดค้ำประกันผ่าน บสย.เฉลี่ยต่อราย 5 ล้านบาท คาดว่าปล่อยสินเชื่อหมดในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ก่อให้เกิดการจ้างงานไม่น้อยกว่า 24,000 คน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 68,700 ล้านบาท เป็นฟันเฟืองช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัว ทั้งนี้ รัฐบาลยังได้มอบหมายให้เตรียมจัดกิจกรรมเวียนให้ครบทุกภาค รวม 14 จังหวัดภายในเดือนพฤษภาคมนี้ แบ่งเป็นเดือนเมษายน 9 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ลำปาง นครศรีธรรมราช สงขลา อ.หาดใหญ่ ตรัง เพชรบุรี มุกดาหาร ร้อยเอ็ด และอุดรธานี เดือนพฤษภาคม 5 จังหวัด คือ สกลนคร ลพบุรี นครปฐม พิษณุโลก และฉะเชิงเทรา
นอกจากนี้ ยังมีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินกองทุน 20,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจดทะเบียนรูปแบบนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลาชำระคืน 7 ปี ไม่ต้องจ่ายคืน 3 ปีแรก ไม่ต้องมีหลักประกัน ให้กู้สูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย และกำหนดสัดส่วนร้อยละ 75 ขึ้นไปจะเป็นวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย เพื่อดูแลรายย่อย การขอสินเชื่อจากกองทุนต้องให้คณะกรรมการกลุ่มยุทธศาสตร์จังหวัดเสนอรายชื่อวงเงินเฉลี่ยจังหวัดละ 200-300 ล้านบาท ต้องอยู่ภาคการเกษตร, แปรรูปอาหาร, แหล่งท่องเที่ยว, กลุ่ม START UP และกลุ่มเทคโนโลยี นวัตกรรม เป็นต้น ตามกลุ่มยุทธศาสตร์จังหวัด คาดว่าจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนกว่า 6,000 ราย เกิดการจ้างงานไม่น้อยกว่า 48,000 คน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 82,440 ล้านบาท พร้อมอนุมัติเบิกจ่ายเดือนพฤษภาคม 2560 เอสเอ็มอีแบงก์ตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้กับเอสเอ็มอี 75,000 ล้านบาท โดยมียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปัจจุบันร้อยละ 17 ใกล้เคียงเป้าหมายร้อยละ 16.6 .-สำนักข่าวไทย