สธ. 5 เม.ย.- กรมสุขภาพจิต ห่วงคนไทย ช่วงอากาศร้อน คนเสี่ยงซึมเศร้าฆ่าตัวตายมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือน เมษายน ถึง พฤษภาคม ซึ่งเพศหญิงมีอัตราซึมเศร้ามากกว่าชาย
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำเทศไทย แถลง วันอนามัยโลก ประจำปี 2560 ” Depression Let’s talk : ซึมเศร้า…เราคุยกันได้ ” ว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรคซึมเศร้า เป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตคนไทยมากขึ้น โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคที่เสแสร้ง หรือแกล้งเป็น โดย พบว่า ประชาชนทั่วไป 300 ล้านคน จะมีคนป่วยซึมเศร้า ร้อยละ 4 และมีภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตายสูง ร้อยละ 20.4 ซึ่งพบว่า วัยรุ่น 15-19 ปี เสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้สูงอายุ สำหรับคนไทย พบผู้ป่วยโรคนี้แล้ว 1.5 ล้านคน เพศหญิงพบอาการป่วยมากกว่าชาย ทั้งนี้คาดเป็นมาจากฮอร์โมน ที่แตกต่างกัน และเพศหญิงมีภาวะบีบคั้นมากกว่า
นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สำหรับโรคซึมเศร้ามีอาการตั้งแต่ เครียด นอนไม่หลับ รู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจ เศร้า ท้อแท้ เบื่อไม่อยากคุยกับใคร คนที่เสี่ยง ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้สูงอายุ และผู้ใช้สารเสพติด การรักษา แก้ได้ด้วยการพูดคุยให้ระบาย มีการรับฟังอย่างตั้งใจ และทำกิจกรรม มองโลกในแง่ดี อย่าคิดถึงสิ่งบั่นทอนจิตใจ ร่วมกับการรับประทานยาควบคู่ โดยสถิติอัตราภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตาย สำหรับประเทศไทย พบ มักเกิดขึ้นในฤดูร้อน เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม คาดว่าส่วนหนึ่งมาจากสภาพอากาศที่ร้อน และสามารถเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
สำหรับสัญญาณที่เกิดอาการซึมเศร้า ได้แก่ ซึมเศร้า หงุดหงิด ก้าวร้าวขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง ไม่มีสมาธิ อ่อนเพลีย เชื่องช้า รับประทานอาหารมากขึ้น หรือน้อยลง นอนมากขึ้น ตำหนิตัวเอง พยายามฆ่าตัวตาย .-สำนักข่าวไทย