นนทบุรี 2 เม.ย. – อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศมั่นใจแผนเจาะตลาดรัฐฉาน เชื่อโอกาสขยายตลาดยังมีสูง ดึงผู้บริหารประเทศรัฐฉานร่วมเสริมความรู้ผู้ประกอบการไทย
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปีนี้กรมการค้าต่างประเทศมีเป้าหมายสำคัญที่จะเดินหน้าเปิดตลาดการค้าในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะตลาดรัฐฉานที่ไทยมีโอกาสทางการค้า-การลงทุนสูง ซึ่งรัฐฉานหรือไทใหญ่เป็น 1 ใน 7 รัฐของเมียนมาร์ ประชากรเป็นชนกลุ่มน้อยตั้งอยู่ทางภาคเหนือของเมียนมาร์และทิศเหนือมีอาณาเขตติดต่อกับรัฐกะฉิ่นและมณฑลยูนนาน ประเทศจีนตอนใต้ ทิศตะวันออกติดกับมณฑลยูนนาน จีนตอนใต้ และแขวงหลวงน้ำทา บ่อแก้ว สปป.ลาว ทิศใต้ ติดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และรัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง และทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตมัณฑะเลย์ และเขตสะกาย
ทั้งนี้ หากมองโอกาสทางการค้า-การลงทุนและการท่องเที่ยวรัฐฉานมีเมืองเศรษฐกิจสำคัญ 3 เมือง ได้แก่ เมืองตองยี เป็นเมืองหลวงของรัฐ ประชากรประมาณ 200,000 คน และมีฐานะค่อนข้างดี ประกอบธุรกิจและค้าขายปลีก เมืองเชียงตุง ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ ไทลื้อ ไทเขิน ประมาณ 171,620 คน ประกอบอาชีพหลัก คือ กสิกรรม และหัตถกรรม เช่น ทำนา ปั้นหม้อ ทำมีด เครื่องเงิน เครื่องเขิน การทอผ้า เมืองเชียงตุง ค่อนข้างมีข้อจำกัดด้านสาธารณูปโภคโดยเฉพาะไฟฟ้าและเมืองท่าขี้เหล็กเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและเมืองท่าชายแดนสำคัญที่สุดของรัฐฉานอยู่ติดกับ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งนำเข้าสินค้าไทย โดยรัฐบาลไทยได้สร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์ แห่งที่ 2 เชื่อมระหว่างเมืองท่าขี้เหล็กและอำเภอแม่สาย เพื่อให้สินค้าไทยสามารถเข้าสู่ประเทศเมียนมาร์สะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การค้าชายแดนไทย-เมียนมาร์ปี 2559 ณ ด่านแม่สายมีปริมาณการค้า 2 ฝ่ายรวม 8,904.30 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้า 8,558.52 ล้านบาท เป็นการส่งออก 8,731.42 ล้านบาท และนำเข้า 172.90 ล้านบาท และด่านแม่สอดมีปริมาณการค้า 2 ฝ่ายรวม 80,696.12 ล้านบาท โดยไทยได้ดุลการค้ารวม 80,561.94 ล้านบาท เป็นการส่งออก 80,696.12 ล้านบาท และนำเข้า 67.09 ล้านบาท นอกจากนี้ สินค้าส่งออกสำคัญมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำตาลทราย เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผ้าผืนและด้าย และเครื่องโทรสาร โทรพิมพ์ โทรศัพท์ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ สัตว์น้ำ โค กระบือ สุกร แพะ แกะ ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากสัตว์ และพืชน้ำมันและผลิตภัณฑ์ โดยพฤติกรรมรสนิยมผู้บริโภค เนื่องจากรัฐฉานมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทย จึงได้รับอิทธิพลจากประเทศไทยผ่านสื่อโทรทัศน์และสื่อโฆษณาต่าง ๆ ประกอบกับนำเข้าสินค้าไทยด้านอำเภอแม่สายและกระจายไปทั้งรัฐอย่างทั่วถึงมาเป็นเวลานาน ประชาชนรัฐฉานทั้งเมืองตองยี เมืองเชียงตุง และเมืองท่าขี้เหล็ก มีฐานะทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับดีนิยมใช้บริโภคสินค้าไทยเป็นหลัก ดังนั้น ตลาดเมืองตองยีและเมืองเชียงตุง จึงเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับสินค้าไทย เพื่อรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดต่อไป
นางดวงพร กล่าวอีกว่า กรมฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปิดตลาดใหม่ จึงกำหนดจัดงานสัมมนาการค้าต่างประเทศ ซีรีส์ 2 “เปิดประตูสู่รัฐฉาน…สานโอกาสการค้า-การลงทุน” วันที่ 4 เมษายนนี้ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 โรงแรม เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว ถือเป็นกิจกรรมตอบแทนสังคมในโอกาสกรมการค้าต่างประเทศก้าวสู่ปีที่ 75 โดยช่วงเช้า กรมฯ ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแผนพัฒนาเศรษฐกิจมาเป็นองค์ปาฐกและมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรองประธานหอการค้าของรัฐฉานเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับโอกาสการค้าและการลงทุนในรัฐฉาน และช่วงบ่ายได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัญฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ 1 ใน 5 ของไทยด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของเมียนมา และเป็นที่ปรึกษาทางประวัติศาสตร์แด่หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไทและตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษหัวข้อ “ฉาน…ภูมิหลังประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม” และต่อด้วยการเสวนา หัวข้อ “คุยเฟื่อง…เรื่องของฉาน” โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมรัฐฉาน-เมียนมา ทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยมีนายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินรายการผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ที่ http://www.dft.go.th/th-th/seminar04042560 หรือสายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ 1385 หรือกองสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ โทรศัพท์ 02-547-4855 ได้.-สำนักข่าวไทย