นครราชสีมา 28 มี.ค.-เกษตรกรที่ตำบลตูม อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ส่วนใหญ่ปลูกข้าว แต่ให้ผลผลิตต่ำ คุณภาพไม่ดี เพราะคุณภาพดินไม่เหมาะแก่การปลูกข้าว กรมชลประทานจึงประสานงานกับท้องถิ่น ส่งเสริมให้เปลี่ยนมาปลูกอ้อย ทำในรูปแบบแปลงใหญ่
เกษตรกรตำบลตูม อำเภอปักธงชัย กำลังไถเตรียมแปลงเพื่อจะปลูกอ้อย เดิมเขาทำนา เป็นที่นาอาศัยน้ำฝน ดินคุณภาพไม่เหมาะ ทำให้ผลผลิตต่ำ เมื่อวิเคราะห์ดินแล้วพบว่าเหมาะแก่การปลูกอ้อย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมอบหมายให้กรมชลประทานรับผิดชอบทำระบบส่งน้ำเข้ามาให้เกษตรกรพร้อมส่งเสริมการทำแปลงใหญ่อ้อย จากเดิมมีพื้นที่ปลูกข้าว 200 ไร่ เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าวลง ส่วนใหญ่หันมาปลูกอ้อยรวม 878 ไร่ เพราะเห็นว่าค่าลงทุนน้อยกว่านาข้าว การดูแลก็น้อยกว่า ที่สำคัญใช้น้ำน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง
ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กล่าวว่า วางระบบส่งน้ำเข้ามา โดยสูบน้ำจากลำพระเพลิงผ่านระบบท่อส่งน้ำ มีความยาวราว 5 กิโลเมตร และมีคลองส่งน้ำอีก 500 เมตร ส่งให้พื้นที่เพาะปลูกได้รวม 1,000 ไร่ แปลงใหญ่พื้นที่นี้เป็นพื้นที่แรกที่นำร่อง มีข้อตกลงระหว่างชลประทานกับชาวบ้าน เรื่องการส่งน้ำว่าจะส่งให้ไม่เกิน 400 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อฤดูกาลเพาะปลูก เพื่อสำหรับปลูกพืชใช้น้ำน้อยเท่าน้อยเท่านั้น
ผลผลิตอ้อยจะตัดได้ในปลายปีนี้ โดยมีโรงงานน้ำตาละครบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ได้ทำสัญญารับซื้อ ซึ่งทำให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่ามีตลาดรองรับแน่นอน เป็นไปตามรูปแบบแปลงใหญ่ประชารัฐ ราคารับซื้ออ้อยจากโรงงานน้ำตาลขณะนี้อยู่ที่ตันละ 1,050 บาท ที่ความหวาน 10 ccs หากอ้อยมีความหวานมากกว่า 10 ccs จะได้รับเงินเพิ่มขึ้นอีก 6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเป็นรายได้ที่มั่นคงกว่าการขายข้าว ซึ่งมีผลผลิตต่ำและคุณภาพไม่ดีอย่างที่เคยเป็นมา.-สำนักข่าวไทย