กรุงเทพฯ27 มี.ค-เปิดผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีปี58-59 พบความเป็นอยู่เด็กสตรีไทย ก้าวหน้าขึ้นหลายด้าน แต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำ เด็กและครอบครัวยากจน อาศัยในพื้นที่ห่างไกลได้รับการดูแลน้อย เสนอ สธ.-ศธ.-พม.ร่วมดีอี พัฒนาร่วมกัน
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานแถลง “ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยพ.ศ.2558-2559 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับ องค์การยูนิเซฟประเทศไทยจัดขึ้น เพื่อเผยแพร่ข้อมูลการสำรวจความเป็นอยู่ของเด็กและสตรีในด้านต่างๆ หลังเก็บข้อมูลครอบครัวกว่า 28,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลไปกำหนดนโยบาย วางแผนและติดตามประเมินผลการพัฒนาเด็กและสตรี
นายพิเชษ กล่าวว่าผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าแม้ความเป็นอยู่ของเด็กและสตรีในไทยจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่เด็กมีอัตราการจดทะเบียนเกิดถึงร้อยละ 99,ร้อยละ 98 เด็กเเละสตรีได้ใช้น้ำดื่มจากเเหล่งน้ำที่สะอาด ,ร้อยละ 95 เข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษา ,ร้อยละ 42 ทารกอายุต่ำว่า 6 เดือนได้กินนมแม่ ส่งผลต่อโภชนาการที่ดี เป็นต้น แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆเกิดขึ้น เช่น เด็กที่อยู่ในพื้นที่ชนบท ครอบครัวยากจน พ่อเเม่ขาดการศึกษา ส่งผลให้เด็กมีปัญหาด้านสุขภาพเเละพัฒนาการ โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะเตี้ยเเคระเกร็น ในอัตรา 1:10 คน, เด็กผู้ชายเเละเด็กในภาคใต้มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานเเละมีภาวะโภชนาการเฉียบพลันสูงกว่าเด็กกลุ่มอื่น ,ร้อยละ 41 ของเด็กอายุต่ำกว่า5ปีมีหนังสือเด็กอย่างน้อย 3 เล่มอ่านที่บ้านทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็นต่อพัฒนาการ , ร้อยละ 24 ของเด็กที่เเม่ไม่มีการศึกษาไม่ได้เข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษา,ไทยมีคุณแม่วัยใสมากที่สุดอันดับ 4 ในอาเซียนโดยวัยรุ่นช่วง 15-19ปี ที่จบเพียงชั้นประถมศึกษาให้กำเนิดบุตรสูงสุด 104:1,000 คน, เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี 3 ล้านคนไม่ได้อยู่กับพ่อเเม่ทั้งๆที่พ่อเเม่ยังมีชีวิตอยู่ เด็กตัดสินใจศึกษาต่อในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับอุดมศึกษาร้อยละ 71เเละสตรีขาดการเข้าถึงข้อมูลเเละบริการที่จำเป็นต่อการพัฒนาตนเอง เป็นต้น ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องช่วยกันทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตโดยในส่วนตนได้ประสาน งานกับ สธ. นำเทคโนโลยีเชื่อมโยงกับการบริการด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
นายโธมัส ดาวิน ผู้เเทนองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า ผลสำรวจตอกย้ำว่าความเป็นอยู่ที่เเตกต่างกันของเด็กกลุ่มต่างๆ ขึ้นอยู่กับพื้นที่อยู่อาศัย ชาติพันธุ์ รายได้ของครอบครัวเเละระดับการศึกษาของเเม่ โดย เฉพาะเด็กเเละสตรีที่ยากจนเเละอยู่ในชนบท ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวกับควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาสถานการณ์เด็กและสตรีให้ดียิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานฉบับนี้สำรวจข้อมูลในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษาและสาธารณสุข อาทิการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และโภชนาการของเด็ก การพัฒนาปฐมวัย อัตราการเข้าเรียน การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ การเลี้ยงดูและการสร้างวินัยในเด็ก เด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เป็นต้น ซึ่งสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ www.unicef.org/thailand/tha/resources.html.-สำนักข่าวไทย