กรุงเทพฯ 25 มี.ค. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด กนง.ส่งสัญญาณยืนดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 ต่อเนื่อง ในการประชุม 29 มี.ค.นี้ หลังผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อไทยยังมีน้อย
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับร้อยละ 1.50 ต่อเนื่อง ในการประชุมวันที่ 29 มีนาคมนี้ โดยน่าจะยืนอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำร้อยละ 1.50 ต่อเนื่องอีกระยะ เพื่อช่วยหนุนให้การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศมีความต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2560 ยังคงมีภาพที่ปะปน เพราะแม้รายได้เกษตรกรจะปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่เครื่องชี้ภาคการบริโภคกลับให้ภาพที่ชะลอลง หลังปัจจัยหนุนจากมาตรการภาครัฐสิ้นสุด ขณะที่การขยายตัวของการส่งออกยังคงกระจุกอยู่ในสินค้าบางประเภท ดังนั้น สัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินจาก กนง.อย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นท่าทีที่เหมาะสมภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจยังสะท้อนภาพการฟื้นตัวไม่เด่นชัดมากนักในขณะนี้ นอกจากนี้ แรงกดดันต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของไทยระยะนี้ยังมีไม่มาก เป็นที่น่าสังเกตว่าธนาคารกลางบางประเทศเริ่มทยอยลดระดับการผ่อนคลายของนโยบายการเงินลงมาบางส่วน ภายหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในรอบการประชุมเดือนมีนาคมล่าสุด อาทิ ธนาคารกลางจีนประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินและธนาคารกลางฮ่องกงขยับขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของประเทศไทยจะเห็นได้ว่าผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อตลาดการเงินไทยยังมีไม่มาก ส่วนหนึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากสัญญาณจากเฟดที่ยังไม่เร่งจังหวะการขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้น แม้ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายของไทยและสหรัฐจะเริ่มแคบลง แต่ความผันผวนที่มีต่อตลาดเงิน-ตลาดทุนไทยยังคงอยู่ในกรอบที่ทางการสามารถบริหารจัดการได้ ประกอบกับ เครื่องชี้เสถียรภาพต่างประเทศของไทยยังคงอยู่ระดับแข็งแกร่ง สภาพคล่องในประเทศที่มีอยู่ในระดับสูง
สำหรับทิศทางนโยบายการเงินของไทยระยะที่เหลือของปี 2560 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กนง.น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับร้อยละ 1.50 ต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2560 เพื่อช่วยสนับสนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คงต้องติดตามจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่เหลือของปีอย่างใกล้ชิด เพราะคงต้องยอมรับว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐยังสามารถประคองโมเมนตัมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับสัญญาณตึงตัวของตลาดแรงงานและทิศทางเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นเหนือระดับเป้าหมาย เฟดก็อาจจะมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนท่าที หรือส่งสัญญาณในเชิงที่คุมเข้มมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลต่อเนื่องมายังทิศทางดอกเบี้ยทั่วโลกและไทย.-สำนักข่าวไทย