รัฐสภา 24 มี.ค.-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญา ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติวันนี้ (24 มี.ค.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญา พ.ศ. …. มีทั้งหมด 46 มาตรา โดย เป็นการพิจารณาต่อจากวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อในมาตรา 4 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมในวรรคสามที่ระบุว่า ในกรณีเขตท้องที่ใดมีความจำเป็นต้องกำหนดให้การทำสัญญาการผลิตผลิตผล หรือ บริการทางการเกษตรประเภทใดต้องนำระบบเกษตรพันธสัญญาไปใช้กับบุคคลธรรมดา ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่สองรายขึ้นไป ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งสมาชิก สนช. ประกอบด้วย นายกล้านรงค์ จันทิก นายวันชัย ศารทูลทัต และนายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสองรายขึ้นไปจะขัดกับร่างเดิมที่กำหนดไว้เป็นสิบรายหรือไม่และเกรงว่าจะซ้ำซ้อนกันในเรื่องของการตีความ ซึ่งสิ่งที่กรรมาธิการชี้แจงไม่ชัดเจนว่าจะเกิดประโยชน์และมีความจำเป็นอย่างไรในอนาคต
ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตในมาตรา 39/1 วรรคสองที่ระบุว่า ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริงในการขจัดมลพิษหรือฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งคำว่า “ขจัดมลพิษ” ครอบคลุมถึงเรื่องน้ำเสีย อากาศและอื่นๆที่จะก่อให้เกิดมลพิษด้วยหรือไม่
โดยกรรมาธิการ ชี้แจงว่า ถ้าระบุว่าหนึ่งรายจะขัดต่อคำนิยามของกฎหมาย เพราะสิบรายขึ้นไปจะต้องเข้าระบบเกษตรพันธสัญญาอยู่แล้ว แต่กรณีที่ไม่ถึงสิบรายต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งการทำสัญญาไม่จำเป็นต้องทำพร้อมกันและในท้องที่เดียว แต่เป็นการนับทั่วประเทศโดยไม่นับเรื่องเวลา นอกจากนี้ การที่ระบุไว้เช่นนั้นส่วนหนึ่งเป็นไปตามแผนตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่สามารถรองรับเกษตรกรที่ไม่ถึงสิบรายเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาในอนาคต ส่วนคำว่า “ขจัดมลพิษ” นั้น จะรวมถึงมลพิษทั้งหมดตามที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดทุกประการ อย่างไรก็ตามในที่สุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. …. ด้วยคะแนน 190 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
สำหรับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้ มีจำนวน 46 มาตรา กรรมาธิการฯ มีการแก้ไข 28 มาตรา โดยเหตุผลของกฎหมายนี้ เนื่องจากประเทศไทยส่วนใหญ่นั้น มีอาชีพเกษตรกรรม และที่ผ่านมามีความพยายามที่จะพัฒนาการภาคเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น ร่างกฎหมายนี้จึงมีสาระสำคัญ เพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐานขณะที่ผู้ประกอบการจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและประเทศชาติจะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ.-สำนักข่าวไทย
