กรุงเทพฯ 23 มี.ค. – รฟม.เพิ่มมาตรการความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างทันที หลังอุบัติเหตุ 2 ครั้ง ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ขณะที่เอกชนรับงานก่อสร้างยืนยันเยียวยาผู้ถูกอุบัติเหตุเป็นที่พอใจแล้ว
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง) พร้อมด้วยผู้แทนกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา PCGRN และผู้แทนผู้รับจ้างงานก่อสร้างทุกสัญญาร่วมชี้แจงถึงกรณีอุบัติเหตุ 2 ครั้ง คือ อุบัติเหตุอุปกรณ์ช่วยยกคานรองรับทางวิ่งรถไฟฟ้า (Lifting Frame) ได้ร่วงหล่นลงมาบนถนนพหลโยธิน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 และอุบัติเหตุอุปกรณ์เทคอนกรีตโครงสร้างเสารองรับทางวิ่งรถไฟฟ้า (Concrete Bucket) ทำให้น้ำปูนไหลใส่รถยนต์ที่จอดติดไฟแดงบริเวณหน้าโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ถนนพหลโยธิน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 นั้น โดย รฟม.รู้สึกเสียใจและขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้เรียกที่ปรึกษาควบคุมโครงการและผู้รับจ้างทุกสัญญา มาประชุมโดยทันที
นอกจากนี้ รฟม.ได้กำหนดมาตรการป้องกันเพื่อมิให้เกิดเหตุในลักษณะเช่นนี้อีก โดยเหตุการณ์อุปกรณ์ช่วยยกคานรองรับทางวิ่งรถไฟฟ้า (Lifting Frame) ร่วงหล่นลงมาบนถนนพหลโยธิน ได้ให้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนอุปกรณ์ยก/ยึด Lifting Frame ใหม่ทั้งหมด และในการยก/ยึด Lifting Frame จะต้องมีมาตรการความปลอดภัยสำรอง (Secondary measure) สำหรับกรณีอุปกรณ์ชำรุดทุกครั้ง ส่วนการช่วยเหลือเยียวผู้เสียหาย รฟม.กำชับให้ผู้รับจ้างเยียวยาและดูแลผู้เสียหายอย่างใกล้ชิด โดยให้จัดรถยนต์ให้ผู้เสียทั้ง 2 รายใช้ทดแทนชั่วคราว สำหรับกรณีรถยนต์เสียหายหนักจะต้องจัดหารถยนต์คันใหม่ทดแทนให้กับผู้เสียหายด้วย ซึ่งขณะนี้ทราบว่าผู้รับจ้างเจรจาตกลงค่าเสียหายต่าง ๆกับผู้เสียหายจนได้ข้อยุติแล้ว
สำหรับกรณีน้ำปูนไหลใส่รถยนต์นั้น รฟม.ได้กำหนดมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะเช่นนี้อีก โดยให้กิจการร่วม UN-SH-CH ปิดช่องทางจราจรเพิ่มขึ้น 1 ช่องทาง เพื่อเบี่ยงการจราจรขณะมีการเทคอนกรีตและเพิ่มผ้าใบ (Blue Sheet) เพื่อป้องกันเหตุที่เกิดจากการเทคอนกรีตลักษณะเช่นนี้อีก ด้านการเยียวยาผู้เสียหายนั้น รฟม.ได้ให้ผู้รับจ้างเยียวยาและดูแลผู้เสียหายอย่างใกล้ชิด โดยจัดรถยนต์ให้ใช้ทดแทนชั่วคราวระหว่างการซ่อม
นายจิรวัฒน์ มาลัย ผู้อำนวยการโครงการ สัญญาที่ 1 บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ชี้แจงว่า ในส่วนของอุบัติเหตุอุปกรณ์ช่วยยกคานรองรับทางวิ่งรถไฟฟ้า นั้น บริษัทเจรจากับผู้เสียหายได้ข้อยุติเวลา 15.00 น.วันนี้ (23 มี.ค.) เช่นกรณีรถนิสสัน มาร์ช บริษัทฯ ชดเชยค่าเสียหาย 1.5 ล้านบาท ส่วนการตรวจสอบอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนี้ ยอมรับว่าตัววิศวกรที่คุมงานครั้งนี้ถูกย้ายออกจากโครงการแล้ว และหากการสอบสวนพบว่ามีความประมาทร้ายแรงอาจมีโทษถึงโดนออกจากงาน
สำหรับกรณีน้ำปูนไหลใส่รถยนต์นั้น นายปริญญา วีระพันธ์ ผู้แทนผู้รับจ้างสัญญาที่ 2 กิจการร่วมค้า UN-SH-C ระบุว่า ได้เยียวยาผู้เสียหายอย่างใกล้ชิด โดยจัดรถยนต์ให้ใช้ทดแทนชั่วคราวระหว่างการซ่อมและจะรับผิดชอบในเรื่องค่าซ่อมที่สัยหายทั้งหมด .-สำนักข่าวไทย