รพ.สัตว์น้ำ 21 มี.ค.-เต่าออมสินตายแล้ว หลังทรมานนานนับเดือน ย้ำเป็นอุทาหรณ์ให้คนฉุกคิด ทำบุญกับสัตว์อย่างถูกวิธี เตรียมนำซากออมสินผ่าพิสูจน์ และสตัฟฟ์ซากไว้ในพิพิธภัณฑ์
นายสัตวแพทย์รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สัตวแพทย์หญิงนันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ นายสัตวแพทย์ภาสกร พฤกษะวัน ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงอาการเต่าออมสินว่า เต่าออมสินตายเมื่อเวลา 10.10 น. ด้วยภาวะโลหิตเป็นพิษ หลังรับการผ่าตัดเพื่อแก้ปัญหาภาวะลำไส้บีบรัดในช่องท้อง เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยเต่าออมสินไม่รู้สึก และภาวะหัวใจเต้นช้าลงต่อเนื่อง จนแพทย์ผู้รักษาต้องให้ยากระตุ้น แต่ก็ไม่ตอบสนอง และตายในที่สุด นับเป็นอุทาหรณ์ของเต่ากลืนเหรียญที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์แม้ไม่ได้ตั้งใจก็ตาม
ทั้งนี้ ยังยกย่องเต่าออมสินเป็นครู เพราะทำให้สัตวแพทย์ได้เรียนรู้ปัญหาของเต่าที่เกิดจากมนุษย์
อย่างไรก็ตาม สำหรับซากของออมสินจะส่งให้ภาควิชาพยาธิวิทยาไปผ่าพิสูจน์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด จากนั้นส่งให้กับศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเลที่สัตหีบ เพื่อสตัฟ์ฟไว้ในพิพิธภัณฑ์ต่อไป
สัตวแพทย์หญิงนันทริกา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ออมสินมารับการรักษาที่ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ ตั้งแต่หลังวาเลนไทน์ เจ้าหน้าที่ทุกคนก็รักและผูกพันกับเต่าออมสิน ทุกคนเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เตรียมทำบุญให้ออมสินที่วัดปทุมวนาราม พร้อมวิงวอนขอให้เป็นเต่าตัวสุดท้ายที่ต้องเจอเรื่องแบบนี้ และหวังว่าคนไทยจะได้เรียนรู้ ไม่ทำบุญกับสัตว์โดยการโยนเหรียญ เพราะสัตว์ไม่สามารถแยกออกได้ว่าอันไหนอาหารหรือสิ่งแปลกปลอม โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่ได้เลี้ยงในธรรมชาติ ย่อมมีความเครียดขาดพัฒนาการที่ดี เต่าออมสินอยู่ในบ่อเลี้ยงได้รับแต่เนื้อปลาก็ขาดสารอาหารที่ครบถ้วน ตามปกติของเต่าตนุ ต้องกินทั้งสาหร่าย ฟองน้ำ และต้องได้เรียนรู้ธรรมชาติ การที่อยู่แต่ในบ่อที่ว่างเปล่า มีแต่เพื่อนสัตว์น้ำจำนวนมากก็เกิดความเครียดได้
นายสัตวแพทย์ภาสกร กล่าวว่า การเสียชีวิตของออมสินไม่ได้เกิดเพราะการผ่าตัด ตรงกันข้ามหากไม่รีบผ่าตัดช่วยเหลือก็มีโอกาสตายสูง ภาวะบีบรัดของลำไส้เป็นผลมาจากร่างกายมีความผิดปกติเป็นเวลา แม้ผ่าตัดแผลฟื้นตัวเร็ว ลำไส้ก็มีการฟื้นตัวด้วยแต่ความที่เกิดช่องว่างในกระเพาะจำนวนมากก็ทำให้ลำไส้บีบรัดกันเอง บวมคล้ำ และยังได้รับปัจจัยเสริมจากสารโลหะหนักในเลือกที่มีมากว่า 200 นาโนกรัม ก็ยิ่งรุนแรง
สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลออมสิน รวม 50,000 บาท และในอนาคตทางศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำเตรียมระดมเงินซื้อเครื่องเอ็นโดสโคป เพื่อใช้ช่วยเหลือสัตว์น้ำอื่นๆ ต่อไป ไม่จำเป็นต้องเต่า และหวังว่าอุทาหรณ์จากกรณีออมสินจะช่วยให้คนสนใจและรู้วิธีดูแลสัตว์มากขึ้น และช่วยสมทบทุนซื้อเครื่องมือแพทย์สำหรับสัตว์เพื่อช่วยเหลือสัตว์อื่นต่อไป.-สำนักข่าวไทย